![]() |
น้ำในงานภูมิสถาปัตยกรรมของไทย |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | น้ำในงานภูมิสถาปัตยกรรมของไทย |
Creator | โกสิต อิสรียวงศ์ |
Contributor | พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2546 |
Keyword | น้ำกับสถาปัตยกรรม |
Abstract | น้ำมีความสำคัญและมีบทบาทเชื่อมโยงกับชีวิตไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นแบบชาวน้ำ คือ ดำรงและดำเนินชีวิต ผูกพันอยู่ร่วมกับสายน้ำ ทั้งการเกิด การทำมาหากิน การประกอบพิธีกรรม ประเพณีและการละเล่น รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัย ดังนั้นการศึกษาถึงความสำคัญ บทบาทและวิวัฒนาการการใช้น้ำในงานภูมิสถาปัตยกรรม ในวิทยานิพนธ์นี้จึงเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถกล่าวได้ว่า เป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาของบรรพชนชาติไทย ที่จะได้รับการถ่ายทอด สืบต่อสู่เยาวชนรุ่นหลัง ในการวิจัยได้ดำเนินการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสายน้ำในรูปแบบของงานภูมิสถาปัตยกรรมเป็นหลัก โดยอาศัยการสังเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือที่ส่วนมากจะกล่าวถึงงานสถาปัตยกรรมเป็นตัวหลักและน้ำในงานภูมิสถาปัตยกรรมเป็นตัวรอง รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน ทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ประกอบกับการวิเคราะห์ผังบริเวณ ภาพถ่ายทางอากาศ และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการประมวลสรุปหาความเกี่ยวเนื่องสร้างเป็นฐานข้อมูล กระบวนการวิจัยมุ่งประเด็นการพิจารณาไปที่บทบาทและความสัมพันธ์ของน้ำในที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดของมนุษย์ โดยแยกตามฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมไทยออกเป็น 3 ระดับ คือ วัง วัดและบ้าน เพื่อให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะรูปแบบการใช้งาน อิทธิพล การตีความ กลวิธีการใช้ที่แตกต่างไปตามระดับฐานะ โดยเริ่มพิจารณาหลักฐานในลักษณะกรณีศึกษาตามยุคสมัย อันได้แก่ ยุคสุโขทัย ยุคอยุธยา และยุครัตนโกสินทร์ เพื่อหาลักษณะเฉพาะ ความเหมือนและความแตกต่างในแต่ละระดับของยุคต่างๆ และทำให้เห็นถึงการถ่ายทอด การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนรูปแบบไปตามสภาพการดำเนินชีวิต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่า การใช้น้ำใน 3 ระดับมีการเปลี่ยนแปลงที่กลมกลืนเป็นไปในทางเดียวกันเช่น เมื่อผ่านระยะเวลาหนึ่งก็มีการทอนขนาดส่วนของงานทั้ง 3 ระดับลงในลักษณะเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องกระบวนการคิด เช่น ในทุกยุคทุกสมัยจะมีการสร้างหรือกันพื้นที่เพื่อเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนเป็นห้วงน้ำขนาดใหญ่ รูปแบบ การใช้งาน มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามคตินิยม อิทธิพล ความรู้ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความต้องการของคนขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเฉพาะในแต่ละระดับ จึงทำให้เห็นว่า วังยังคงรูปแบบตามแบบแผนดั้งเดิมไว้ได้มากที่สุดในพระบรมมหาราชวัง แต่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปในการสร้างพระที่นั่งใหม่ๆ วัดยังคงรูปแบบแผนดั้งเดิมเช่นกันและปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นและบ้านปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปจากเดิมมาก เนื่องจากกระแสความนิยม อิทธิพลการรับรู้ การเปลี่ยนถ่ายทางวัฒนธรรม ทำให้มีแบบแผนและรูปลักษณ์ที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับรสนิยมและความพึงพอใจส่วนบุคคล แต่ถึงอย่างไร น้ำยังคงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม ในด้านการใช้งานและการสร้างความสุข เนื่องจากมีการพัฒนาพลิกแพลงรูปแบบให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน |
ISBN | 9741739036 |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |