![]() |
ปัจจัยที่มีผลต่อการควบแน่นในโบราณสถาน : กรณีศึกษา พระอุโบสถ วัดกำแพง |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | ปัจจัยที่มีผลต่อการควบแน่นในโบราณสถาน : กรณีศึกษา พระอุโบสถ วัดกำแพง |
Creator | สุริยน ศิริธรรมปิติ |
Contributor | สุนทร บุญญาธิการ, แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2542 |
Keyword | ความชื้น, การควบแน่น, ความร้อน -- การถ่ายเท, วัดกำแพง |
Abstract | โบสถ์และวิหารถือเป็นโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่ใช้ในการเผยแพร่ศาสนา ซึ่งปัจจุบันโบสถ์และวิหารมากมายมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากความชื้น อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ น้ำฝน น้ำใต้ดิน และการระเหยของน้ำจากอิทธิพลของแสงอาทิตย์ ความชื้นดังกล่าวนอกจากจะก่อความเสียหายแก่งานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายให้กับภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย ในอดีตเข้าใจกันว่าความชื้นที่เกิดขึ้นจากดินและน้ำใต้ดินเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ในความเป็นจริงยังมีสาเหตุต่างๆ อีกหลายสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเกิดความชื้น วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้มุ่งแสวงหาสาเหตุของปริมาณความชื้นที่เกิดขึ้นในโบราณสถานโดยการวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดความชื้นนั้นๆ ขั้นตอนการศึกษากระทำโดย การสำรวจสถานที่จริง การสังเกตสภาพของอาคาร การสอบถามผู้มีประสบการณ์ในการบูรณะโบราณสถาน และการบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องมืออันได้แก่ อุณหภูมิและความชื้นสัมพันธ์ของอากาศ อุณหภูมิผิวผนังภายใน อุณหภูมิผิวกระเบื้องมุงหลังคาด้านใน และปริมาณความชื้นที่สะสมในผนังอาคาร จากการศึกษาดังกล่าวจะนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดความชื้นในอาคารที่ทำการศึกษา จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภายในอาคารมีการสะสมความชื้นในปริมาณสูงอยู่ 2 แห่งที่ คือบริเวณผนังด้านล่างที่ใกล้กับพื้นดิน และบริเวณผนังส่วนบนใกล้กับหลังคา ความชื้นที่ส่วนบนดังกล่าวนี้เกิดจากการควบแน่นที่บริเวณผิวกระเบื้องมุงหลังคาด้านในช่วงเวลาประมาณ 24.00 น. ถึง 7.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่อุณหภูมิผิวกระเบื้องมุงหลังคาด้านในต่ำกว่าอุณหภูมิจุดน้ำค้างในช่วงหลังคา ส่วนความชื้นในผนังด้านล่างอาคารยังไม่พบสาเหตุหลักของการควบแน่น แต่เชื่อว่าความชื้นในส่วนนี้มาจากดินและน้ำฝน ในการเกิดการควบแน่นยังมีสาเหตุมาจากตัวแปรอีกหลายประการ เช่น จากผู้ใช้อาคารจำนวนมาก การรั่วไหลของอากาศภายนอกในช่วงเวลาที่อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูง หรือ ในช่วงที่อุณหภูมิอากาศภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาคารที่ไม่มีฝ้าเพดานมีแนวโน้มที่จะเกิดการควบแน่นที่ผิวกระเบื้องมุงหลังคาด้านในง่ายกว่าอาคารที่มีฝ้าเพดาน ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ความชื้นที่เกิดขึ้นในอาคารนั้นไม่ได้มีเพียงแต่ความชื้นที่มาจากดินเป็นสาเหตุสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่ยังพบว่ามีการเกิดการควบแน่นที่ผิวกระเบื้องมุงหลังคาด้านใน และมีโอกาสที่จะเกิดที่ผิวผนังภายในได้ด้วย ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและออกแบบในการบูรณะโบราณสถาน ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสในการสะสมความชื้นจากการควบแน่นสำหรับประเทศไทยต่อไป |
ISBN | 9743348026 |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |