การสร้างออดิโอเดสคริปต์ชั่นในภาพยนตร์การ์ตูน เพื่อเด็กพิการทางการมองเห็น
รหัสดีโอไอ
Title การสร้างออดิโอเดสคริปต์ชั่นในภาพยนตร์การ์ตูน เพื่อเด็กพิการทางการมองเห็น
Creator ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์
Contributor จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์, ปริดา มโนมัยพิบูลย์
Publisher จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Publication Year 2554
Keyword ภาพยนตร์การ์ตูน, เด็กตาบอด, เสียง, เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา, วิทยุกระจายเสียง
Abstract วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างออดิโอเดสคริปต์ชั่นในภาพยนตร์การ์ตูน เพื่อเด็กพิการทางการมองเห็น ฉบับนี้ เป็นงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ (Creative Research) ที่ได้มีการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัย 2 ข้อ คือ (1) ศึกษาถึงกระบวนการสร้างออดิโอเดสคริปต์ชั่นในภาพยนตร์การ์ตูนและการทดลองสร้าง และ (2) การทดสอบการรับรู้สุนทรียภาพจากภาพยนตร์การ์ตูนเฉพาะกิจ จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่มีความพิการทางการมองเห็น อายุ 7 – 9 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร และได้เลือกภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง ทอม แอนด์ เจอร์รี่ จำนวนทั้งสิ้น 3 ตอน เพื่อเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการสังเกตพฤติกรรม และการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการสร้างออดิโอเดสคริปต์ชั่นในภาพยนตร์การ์ตูน เป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดมาก ทั้งในเรื่องของ (1) การเลือกคำที่จะใช้สื่อสาร จากการวิเคราะห์ระดับภาษาของกลุ่มตัวอย่างและกรอบภาษาในสื่อบันเทิงที่อยู่ในรูปแบบของเสียง (2) การวิเคราะห์เรื่องราวและ “เลือก” สิ่งที่จำเป็นต้องสื่อสาร (3) การวางแผนและตัดสินใจในการเขียนบทบรรยาย และ (4) การสื่อสารอารมณ์ของเรื่องผ่านบทบรรยาย เพราะการสร้างสื่อลักษณะนี้ “เสียง” จะทำหน้าที่เป็น “ภาพ” และทำหน้าที่แทน “การแสดง” ของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง ดังนั้น ทักษะการใช้เสียงเพื่อสื่อสารอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญพอๆกับการเลือกคำเพื่อสื่อสารเรื่อง สำหรับการทดสอบการรับรู้สุนทรียภาพ จากกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนที่มีความพิการทางการมองเห็น อายุ 7 - 9 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ทุกกลุ่มตัวอย่างสามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างถูกต้องเป็นลำดับ แต่มักจะข้ามเหตุการณ์ที่เป็นมุขตลกแบบฉับพลันไป กลุ่มตัวอย่างสามารถรับสารข้อคิดเชิงศีลธรรมได้ เฉพาะในเรื่องที่มีการระบุไว้ในบทบรรยายชัดเจน และกลุ่มตัวอย่างอย่างอายุ 8 ปี และ 9 ปี สามารถสื่อสารรายละเอียดจากจินตนาการของภาพฉากที่ตนประทับใจได้มากกว่ากลุ่มตัวอย่างอายุ 7 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างอายุ 8ปี และ 9 ปี สามารถให้รายละเอียดภาพที่ประทับใจได้ถึงบริบทของฉากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตนเอง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างอายุ 7 ปี สามารถกล่าวถึงเพียงตัวละครหลักๆ
URL Website cuir.car.chula.ac.th
Chulalongkorn University

บรรณานุกรม

EndNote

APA

Chicago

MLA

ดิจิตอลไฟล์

Digital File #1
DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ