![]() |
การวิเคราะห์ความเชื่ออำนาจในตน การรับรู้ความสามารถของตน และการเห็นคุณค่าในตนเองของครูตามโมเดลวงจรวิชาชีพครู : การวิจัยผสานวิธี |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การวิเคราะห์ความเชื่ออำนาจในตน การรับรู้ความสามารถของตน และการเห็นคุณค่าในตนเองของครูตามโมเดลวงจรวิชาชีพครู : การวิจัยผสานวิธี |
Creator | วไลกรณ์ แก้วคำ |
Contributor | สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | ครู, แนวคิดอำนาจควบคุมตน, ความสามารถในตนเอง, ความนับถือตนเอง, วิจัยแบบผสมผสาน, Teachers, Locus of control, Self-efficacy, Self-esteem, Mixed methods research |
Abstract | วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ (1) วิเคราะห์ระดับความเชื่ออำนาจในตน การรับรู้ความสามารถของตน และการเห็นคุณค่าในตนเองของครู (2) เปรียบเทียบระดับดังกล่าว ระหว่างกลุ่มครูที่อยู่ในช่วงของวิชาชีพแตกต่างกัน และ (3) ศึกษาสภาพของครูในแต่ละช่วงของวิชาชีพ วิธิวิจัย ใช้การวิจัยแบบผสานวิธี เริ่มด้วยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างครูในโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 474 คน โดยใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติภาคบรรยาย และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว จากนั้นใช้พหุกรณีศึกษา ศึกษาครู 6 คน เก็บข้อมูลโดยการ สังเกต สัมภาษณ์ และวิเคราะห์เอกสาร ผลการวิจัยพบว่า 1.ครูมีระดับความเชื่ออำนาจในตน การรับรู้ความสามารถของตน และการเห็นคุณค่าในตนเองในระดับปานกลาง 2.ครูที่อยู่ในช่วงของวิชาชีพครูที่ต่างกันไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในระดับความเชื่ออำนาจในตน การรับรู้ความสามารถของตน และการเห็นคุณค่าในตนเอง 3.ลักษณะของครูที่อยู่ในแต่ละช่วงของวงจรวิชาชีพครูในแต่ละช่วงมีดังนี้ (1) ครูที่อยู่ในช่วงแรกเข้า ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาที่เผชิญคือการจัดการชั้นเรียน การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมขององค์กร การสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสมคือการให้คำปรึกษา แนะนำ และเปิดโอกาสให้ครูใหม่ได้เรียนรู้จากครูเก่าที่มีประสบการณ์ รับการฝึกอบรม รวมทั้งการจัดครูพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด (2) ครูที่อยู่ในช่วงสร้างสมรรถภาพ ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับ มีความรู้สึกว่าการทำงานในวิชาชีพครูมีความท้าทาย และตนสามารถทำงานนี้ได้ การส่งเสริมและสนับสนุนที่เหมาะสมคือการเปิดโอกาสให้ครูได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาในงานที่ครูสนใจ ควรให้กำลังใจหรือมีผลตอบกลับเพื่อการพัฒนา (3) ครูที่อยู่ในช่วงกระตือรือร้นและก้าวหน้า ต้องการพัฒนาตนเองให้ไปสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพ มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผู้เรียนและพัฒนาวิชาชีพของตน มีความพึงพอใจมากในความเป็นครู และปวารณาตนเองเพื่อการสอน ควรส่งเสริมด้วยการผลักดันให้เป็นต้นแบบ และผู้นำครูคนอื่นๆให้ไปสู่การพัฒนา ควรสนับสนุนเรื่องเวลาให้มีความยืดหยุ่น เพื่อการเผยแพร่ความรู้ (4) ครูที่อยู่ในช่วงคับข้องใจในวิชาชีพ มีความสับสน เครียด ไม่มีความสุข และอยากออกจากวิชาชีพครู ควรให้ความช่วยเหลือครูในช่วงนี้อย่างเร่งด่วนด้วยการให้คำแนะนำ เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และจัดสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง (5) ครูที่อยู่ในช่วงภาวะคงที่ในวิชาชีพ ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง มักจะทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรส่งเสริมให้ครูมีบทบาทในกิจกรรมใหม่ๆ เห็นความสำคัญของตนเองในร่วมการพัฒนาโรงเรียน (6) ครูที่อยู่ในช่วงขาลงในวิชาชีพ เตรียมตัวที่จะออกจากวิชาชีพครู ให้ความสำคัญกับผลงานของตนเองที่ผ่านมา ควรเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จของตนเองแก่เพื่อนครู เพื่อสืบสานการพัฒนาวิชาชีพครูสานต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ กับเพื่อนครู |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |