![]() |
พัฒนาการของกลบทในวรรณคดีไทย |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | พัฒนาการของกลบทในวรรณคดีไทย |
Creator | กีรติ ธนะไชย |
Contributor | ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | กลบท, วรรณคดีไทย, กวีนิพนธ์ไทย, Thai literature, Thai poetry |
Abstract | ศึกษาพัฒนาการของกลบทในวรรณคดีไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลบท การใช้กลบท จำแนกประเภทของกลบท วิเคราะห์การสืบสรรค์และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลบทกับการเสนอเนื้อหาในวรรณคดีไทย ทั้งนี้ได้เลือกศึกษาวรรณคดีไทยภาคกลางตั้งแต่สมัยอยุธยา (พุทธศักราช 1893) ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศักราช 2553) โดยศึกษาวรรณคดีลายลักษณ์ร้อยกรองเฉพาะที่ปรากฏกลบทแทรกอยู่ในเรื่อง และแต่งเป็นกลบททั้งเรื่อง วรรณคดีที่เลือกมาศึกษามีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 235 เรื่อง ผลการศึกษาพบว่า กลบทเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ในวรรณคดีที่ได้รับการสืบทอดและสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีกำเนิดขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจลักษณะภาษาไทย ลักษณะคำประพันธ์ไทย การสังเคราะห์องค์ความรู้ทางประพันธศาสตร์บาลีสันสกฤต รวมทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสร้างเสพวรรณคดีที่เน้นการอ่านและการฟัง อันเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการสร้างสรรค์และเผยแพร่กลบท ฉันทลักษณ์ที่เล่นกลบทได้หลากหลายคือกลอน โคลงสี่ทั้งแบบดั้นและสุภาพ และกาพย์ฉบัง 16 ทั้งนี้ กลอนเป็นฉันทลักษณ์ที่สามารถยักเยื้องเสียงและคำเพื่อสร้างลักษณะกลได้ไม่จำกัด วิธีเล่นกลบทในกลอนจึงทำได้มาก ปรากฏชัดเจนและโดดเด่นโดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลบทในวรรณคดีจำแนกได้เป็น 5 ประเภท คือประเภทบังคับเสียง บังคับคำ บังคับเสียงและคำ บังคับอักขรวิธี และบังคับฉันทลักษณ์ กลบทประเภทบังคับคำมีใช้แพร่หลายในคำประพันธ์ทุกประเภทและมีชนิดย่อยมากที่สุด นอกจากนี้ การแต่งกลบทอาจแต่งแทรกไว้ในเนื้อหาตอนต่างๆ ของเรื่อง และแต่งเป็นกลบททั้งเรื่องเพื่อแสดงฝีมือของกวี ความต่อเนื่องและพัฒนาการด้านรูปแบบของกลบทที่พบในวรรณคดีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ประจักษ์ว่ากลบทเป็นวิธีการพิเศษซึ่งกวีใช้แสดงความสามารถ ที่มีมากกว่าการแต่งตามกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ในด้านที่สัมพันธ์กับวรรณศิลป์ กลบทมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างสุนทรียภาพในเรื่องเสียง ทั้งเสียงสัมผัสและจังหวะของเสียงในคำประพันธ์ เรื่องคำและความหมายของคำ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาที่กวีต้องการเสนอด้วย โดยกวีใช้กลบทเพื่อเน้นย้ำความ ใช้กลบทเพื่อเสริมให้การพรรณนารายละเอียดที่มีขอบเขตเฉพาะมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ทั้งความงามของตัวละคร และความงามของฉากและบรรยากาศ ใช้กลบทเพื่อพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกด้านต่างๆ ของทั้งกวีและตัวละครในวรรณคดี และใช้กลบทเพื่อประโยชน์ในการดำเนินเรื่องทั้งการเล่าเหตุการณ์ การสรุปเหตุการณ์ การเน้นเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง และการเน้นปฏิสัมพันธ์ของตัวละครสำคัญ การใช้กลบทในวรรณคดีจึงมิใช่เรื่องที่จำกัดอยู่เพียงการแสดง “ฝีมือ” และ “ปัญญา” ในเชิงประพันธศาสตร์อย่างเดียว วิธีเลือกสรรคำให้สอดคล้องกับชนิดกลบท ประเภทคำประพันธ์ และเนื้อความที่ต้องการสื่อสารจึงนับเป็น “ศาสตร์” สำคัญที่กวีผู้ชำนาญภาษาต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง สมกับที่วรรณคดีเป็นสมบัติและงานศิลปะชั้นเลิศของแผ่นดิน |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |