![]() |
การเปรียบเทียบความคิดของ ประติมากร ภูมิสถาปนิก และ ผู้ได้รับประโยชน์ ต่อการใช้ประติมากรรมลอยตัวเป็นองค์ประกอบพื้นที่สาธารณะในเมือง |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การเปรียบเทียบความคิดของ ประติมากร ภูมิสถาปนิก และ ผู้ได้รับประโยชน์ ต่อการใช้ประติมากรรมลอยตัวเป็นองค์ประกอบพื้นที่สาธารณะในเมือง |
Creator | ธีรภัทร จิโน |
Contributor | นิลุบล คล่องเวสสะ |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2555 |
Keyword | ประติมากรรมลอยตัว, พื้นที่สาธารณะ, ประติมากร, Round-relief, Public spaces, Sculptors |
Abstract | ในโลกสากล คำว่า “ศิลปะสาธารณะ (public art)” ถูกนำมาใช้กับงานศิลปะที่จัดวางในที่สาธารณะและมีบทบาทในการสื่อสารต่อสาธารณะตามความประสงค์ของเจ้าของโครงการตามบริบทที่ตั้งของงาน การใช้ประติมากรรมลอยตัวในที่สาธารณะพบเห็นได้มากขึ้นๆ ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เป็นที่น่าสนใจว่า งานศิลปะสาธารณะเหล่านี้ให้คุณค่าต่อสถานที่มากน้อยเพียงใดในความรู้สึกของผู้ใช้สถานที่ ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการมีมุมมองต่อประติมากรรมลอยตัวในที่สาธารณะอย่างไร และบทบาทของประติมากรต่อการสร้างสรรค์ภูมิทัศน์โดยรอบควรมีส่วนร่วมกับผู้ออกแบบพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆมากน้อยเพียงใด งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษากรณีตัวอย่างงานประติมากรรมลอยตัวในที่สาธารณะจำนวน 12 ชิ้น ในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ผลงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ประติมากร ผู้ออกแบบพื้นที่ และ เจ้าของโครงการ ด้วยการสัมภาษณ์ในเชิงลึก และสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้สถานที่ เพื่อเปรียบเทียบความคิดของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายรวมถึงผู้ใช้พื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการทำงานออกแบบพื้นที่ประกอบงานประติมากรรมในที่สาธารณะ ผลการศึกษาให้ผลเชิงประจักษ์ว่าผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าประติมากรรมในที่สาธารณะให้ประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่มองเห็นระดับของประโยชน์แตกต่างกัน ขณะที่ประติมากรมองเห็นผลถึงระดับจิตใจและความรู้สึกนึกคิด กลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มองเห็นผลในระดับทัศนภาพ ระดับความคาดหวังที่ต่างกันนี้ได้สะท้อนในการให้น้ำหนักความสำคัญของปัญหาการทำงานที่แตกต่างกันด้วย กล่าวคือ กลุ่มประติมากรให้ความสำคัญกับปัญหาในขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ผู้ออกแบบพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการออกแบบ และเจ้าของโครงการมุ่งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการแล้วเสร็จ ข้อเสนอในการพัฒนางานออกแบบพื้นที่รองรับประติมากรรมในพื้นที่สาธารณะในการศึกษานี้ ได้เสนอลักษณะการประสานงานของแต่ละฝ่ายระหว่างกระบวนการทำงาน การปรับความคาดหวังให้อยู่ในระดับที่ตรงกัน การทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และ ข้อเสนอการจัดการหลังการดูแลรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่เมื่อเวลาผ่านไป |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |