![]() |
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่เพื่อส่งเสริมสัมผัสด้านสถานที่และการรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่เพื่อส่งเสริมสัมผัสด้านสถานที่และการรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น |
Creator | พิรุณ ศิริศักดิ์ |
Contributor | อลิศรา ชูชาติ, วัชราภรณ์ แก้วดี |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | วิทยาศาสตร์ -- การศึกษาและการสอน (มัธยมศึกษา), นิเวศวิทยา, นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่และ เพื่อประเมินคุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นในด้านการส่งเสริมสัมผัสด้านสถานที่และการรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ดำเนินการวิจัยเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยคัดเลือกพื้นที่วิจัยที่มีลักษณะตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ได้เป็นโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากนั้นจึงศึกษาบริบทของพื้นที่วิจัย เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานมาใช้ในการสร้างรูปแบบการเรียนการสอน ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ทดลองใช้เบื้องต้นและปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปทดลองเพื่อประเมินคุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการทดลองจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส จำนวน 23 คน เป็นเวลา 13 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้แบบวัดสัมผัสด้านสถานที่และแบบวัดการรู้สิ่งแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นเป็นแบบวัดคู่ขนาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสัมผัส ด้านสถานที่และการรู้สิ่งแวดล้อมก่อนและหลังการทดลองด้วยสถิติทดสอบค่าที และเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากผลงานและบันทึก การเรียนรู้ของนักเรียน วิเคราะห์เนื้อหาเพื่อประเมินและอภิปรายการพัฒนาสัมผัสด้านสถานที่และการรู้สิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนของรูปแบบ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีแนวคิดพื้นฐานที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่ สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และมีองค์ประกอบจำนวน 5 ด้านคือ 1) หลักการของรูปแบบ มี 4 ประการคือ การนำบริบทของท้องถิ่นมาใช้เป็นแหล่งประสบการณ์เรียนรู้ การสืบสอบประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น การลงมือพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน 2) วัตถุประสงค์มี 2 ด้านคือ การส่งเสริมสัมผัสด้านสถานที่ในด้านความหมายของสถานที่และความผูกพันกับสถานที่ และการส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อมในด้านความรู้ ทักษะ เจตคติและพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม 3) เนื้อหาของรูปแบบเป็นสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่บูรณาการกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น 4) ขั้นตอนการเรียนการสอนมีจำนวน 6 ขั้นคือ ขั้นเตรียมทักษะพื้นฐานให้กับนักเรียน ขั้นสำรวจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ขั้นวิเคราะห์บริบทของประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ขั้นวางแผนการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ขั้นลงมือพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและขั้นนำเสนอผลงาน สู่สาธารณะ และ 5) การประเมินผลการเรียนรู้ ทำได้โดยโดยการตรวจสอบผลงานและบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียนระหว่างการเรียนการสอนและการทดสอบหลังการเรียนการสอนตามรูปแบบ 2.ผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีดังนี้ 2.1ด้านการส่งเสริมสัมผัสด้านสถานที่: กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความหมายของสถานที่และค่าเฉลี่ยระดับความผูกพัน กับสถานที่ในภาพรวมและจำแนกตามองค์ประกอบย่อยสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกองค์ประกอบ โดยมีพัฒนาการความหมายของสถานที่และความผูกพันกับสถานที่สูงที่สุดในขั้นนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ 2.2ด้านการส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อม: กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม คะแนนเฉลี่ยทักษะด้านสิ่งแวดล้อม ค่าเฉลี่ยระดับเจตคติด้านสิ่งแวดล้อมและค่าเฉลี่ยระดับพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวมสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกองค์ประกอบ โดยมีพัฒนาการความรู้และทักษะด้านสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในขั้นลงมือพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และมีพัฒนาการเจตคติและพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในขั้นนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |