![]() |
การเพิ่มผลลัพธ์การอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนนายร้อยตำรวจโดยการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ในบทความวิจัย : การทดลองภาคสนาม |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การเพิ่มผลลัพธ์การอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนนายร้อยตำรวจโดยการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ในบทความวิจัย : การทดลองภาคสนาม |
Creator | อโนมา โรจนาพงษ์ |
Contributor | สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา, สุวิมล ว่องวาณิช |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | ภาษาอังกฤษ -- การอ่าน, ความเข้าใจในการอ่าน, นักเรียนนายร้อยตำรวจ, English language -- Reading, Reading comprehension, Police recruits |
Abstract | การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) พัฒนากรอบการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ในบทความวิจัย (CORI) เพื่อเพิ่มผลลัพธ์การอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนนายร้อยตำรวจ 2) ศึกษาผลจากการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ (CORI) ที่เกิดกับผู้เรียนในด้านผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่านและกลวิธีการอ่านภาษาอังกฤษ 3) เปรียบเทียบผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่าน และกลวิธีการอ่านภาษาอังกฤษ ระหว่างกลุ่มการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ (CORI) แบบเน้นกลวิธีการอ่าน (SI) และแบบดั้งเดิม (TI) และ 4) เปรียบเทียบผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่าน และกลวิธีการอ่านภาษาอังกฤษ ระหว่างการอ่านเป็นคู่และเป็นทีมในกลุ่มการเรียนการสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ (CORI) และแบบเน้นกลวิธีการอ่าน (SI) ดำเนินการวิจัยด้วยการทดลองภาคสนามแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การวิจัยเชิงสำรวจ การสร้างและพัฒนากรอบการเรียนการสอน และการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมที่มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (pretest and posttest, control group design) กลุ่มตัวอย่างในระยะสำรวจ คือ อาจารย์หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 10 คน และนักเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 261 คน สำหรับกลุ่มตัวอย่างในระยะทดลอง คือ นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 จำนวน 124 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มๆ ละ 42 คน (CORI และ SI) และกลุ่มควบคุม (TI) จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวัดแรงจูงใจในการอ่าน แบบวัดกลวิธีการอ่าน แบบทดสอบความรู้-การนำไปใช้ และแบบสอบถามความผูกพันกับอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ด้วยสถิติบรรยาย การวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย t-test dependent การวิเคราะห์ความแปรปรวนของตัวแปรพหุนาม (MANOVA) การวิเคราะห์อิทธิพล (Path analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) โดยผลการวิจัยพบว่า1. กรอบการเรียนการสอนอ่านบทความวิจัยที่พัฒนาขึ้น มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) เนื้อหาเชิงมโนทัศน์ 2) การเสริมแรงจูงใจในการอ่าน 3) การสอนกลวิธีการอ่าน และ 4) การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียนการสอนมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1) ขั้นสังเกตและสร้างความสนใจ 2) ขั้นค้นคว้าและเรียกคืน 3) ขั้นสร้างความเข้าใจและบูรณาการ และ 4) ขั้นสื่อสารกับผู้อื่น 2. ผลของการใช้กรอบการเรียนการสอนอ่านฯที่พัฒนาขึ้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่านและกลวิธีการอ่านหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อวิเคราะห์อิทธิพลของ CORI ต่อผลลัพธ์การอ่าน พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีค่าไค-สแควร์ X² = 33.72, df = 23, p = 0.069, RMSEA = 0.062, RMR = 0.050, GFI = 0.950, AGFI = 0.87, และ CFI = 0.99 โดยอิทธิพลรวมของ CORI ต่อผลลัพธ์การอ่านด้านความผูกพันกับการอ่านสูงที่สุด 3. ผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่านและกลวิธีการอ่านระหว่างกลุ่ม CORI, SI และ TI พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่ม CORI มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าทั้งกลุ่ม SI และ TI ขณะที่กลุ่ม SI มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่ม TI 4. ผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์การอ่าน แรงจูงใจในการอ่านและกลวิธีการอ่านระหว่างการอ่านเป็นคู่และทีมในกลุ่ม CORI และ SI พบว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการอ่านเป็นคู่-ทีมและกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |