![]() |
ผลของการนวดต่อความอยากแอลกอฮอล์ในผู้ที่เข้ารับการบำบัดการติดแอลกอฮอล์ในระยะฟื้นฟู ณ สถาบันธัญญารักษ์ |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | ผลของการนวดต่อความอยากแอลกอฮอล์ในผู้ที่เข้ารับการบำบัดการติดแอลกอฮอล์ในระยะฟื้นฟู ณ สถาบันธัญญารักษ์ |
Creator | ณัฐนรี ชื่นชูจิตต์ |
Contributor | รัศมน กัลยาศิริ |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | ผู้ติดสุรา, การบำบัดด้วยการนวด, สถาบันธัญญารักษ์ |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ cross-over มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความอยากแอลกอฮอล์ขณะที่ได้รับและไม่ได้รับการนวดในผู้ที่เข้ารับการบำบัดการติดแอลกอฮอล์ในระยะฟื้นฟู ณ สถาบันธัญญารักษ์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากชายไทย 18 คน ที่เข้ามารับการบำบัดการติดแอลกอฮอล์ในระยะฟื้นฟู ณ สถาบันธัญญารักษ์ โดยใช้แบบประเมินตอบด้วยตนเองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยแบบประเมินความอยากแอลกอฮอล์ Penn Alcohol Craving Scale (PACS) ฉบับภาษาไทยและแบบประเมินความรู้สึก Visual Analog Scale (VAS) โดยกลุ่มตัวอย่างจะทำแบบประเมินดังกล่าวทั้งหมด 3 วัน คือ วันที่ไม่ได้รับกิจกรรมใด ๆ วันที่ได้รับการนวด และวันอ่านหนังสือพิมพ์ โดยจะมีการสลับวันที่ได้รับการนวดหรือวันอ่านหนังสือพิมพ์แบบสุ่ม การนวดหรืออ่านหนังสือพิมพ์มีระยะเวลาครั้งละ 30 นาที เว้นระยะเวลาห่างกัน 3 วัน ซึ่งในแต่ละวันกลุ่มตัวอย่างจะได้รับชมวิดีทัศน์ภาพกระตุ้นความอยากแอลกอฮอล์ที่มีความยาวครั้งละ 1 นาทีจำนวน 3 ครั้ง ระยะห่างระหว่างครั้งทุก 5 นาที และเป็นภาพธรรมชาติต่ออีกจำนวน 3 ครั้ง ในรูปแบบเดียวกัน จากนั้นแบบประเมิน PACS และ VAS จะปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หลังภาพกระตุ้นและภาพธรรมชาติในแต่ละครั้ง เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างสามารถเลือกคำตอบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยจะมีการวัดระดับสัญญาณชีพ (ความดันโลหิตและชีพจร) ด้วยเครื่องวัดอัตโนมัติทุกครั้งที่ตอบแบบประเมิน จากนั้น นำข้อมูลระดับความอยากแอลกอฮอล์ ความรู้สึกที่พบร่วม ระดับสัญญาณชีพ มาวิเคราะห์ด้วยสถิติ Generalized Estimating Equations (GEE) และ pair t-test ผลการศึกษา พบว่า ความอยากแอลกอฮอล์ในวันที่ได้รับการนวดต่ำกว่าวันที่ไม่ได้รับการทำกิจกรรมใด ๆ ขณะดูวีดิทัศน์กระตุ้นความอยากแอลกอฮอล์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และต่ำกว่าวันอ่านหนังสือพิมพ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 อย่างไรก็ตาม ความอยากแอลกอฮอล์ในวันที่ไม่ได้รับกิจกรรม ใด ๆ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับวันอ่านหนังสือพิมพ์ (p = 0.4) นอกจากนี้ การนวดยังมีผลลดระดับความรู้สึกด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้สึกถูกกระตุ้น ความรู้สึกกังวล ความรู้สึกหิว ความรู้สึกมีอารมณ์พุ่งสูง ความรู้สึกหวาดระแวง ความรู้สึกพูดไม่ออก ความรู้สึกแย่ ขณะดูวิดีทัศน์ภาพแอลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 แต่ไม่มีผลต่อความรู้สึกกระสับกระส่าย นอกจากนี้ การนวดยังมีผลลดระระดับความดันโลหิต systolic ความดันโลหิต diastolic และระดับชีพจร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ขณะดูวีดิทัศน์กระตุ้นความอยากแอลกอฮอล์ ดังนั้น การนวดสามารถลดความอยากแอลกอฮอล์ และสามารถลดระดับความรู้สึกด้านต่าง ๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ขณะถูกกระตุ้นให้เกิดความอยากแอลกอฮอล์ และสามารถลดระดับความดันโลหิต systolic ความดันโลหิต diastolic และระดับชีพจรได้ |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |