![]() |
การเปรียบเทียบระหว่างการติดตั้งฉนวนกันความร้อนภายในและภายนอกของผนังต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานปรับอากาศ |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การเปรียบเทียบระหว่างการติดตั้งฉนวนกันความร้อนภายในและภายนอกของผนังต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานปรับอากาศ |
Creator | กษิดา ชำนาญดี |
Contributor | ธนิต จินดาวณิค |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | การใช้พลังงานไฟฟ้า, อาคาร -- การปรับอากาศ, อาคาร -- ฉนวนความร้อน |
Abstract | วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระหว่างการติดตั้งฉนวนกันความร้อนภายในและภายนอกของผนังต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานปรับอากาศ เมื่อมีสภาวะใช้งานปรับอากาศที่มีรูปแบบแตกต่างกัน โดยงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) ด้วยการสร้างห้องทดลองทางพลังงาน ขนาด 3.00x3.00 เมตร สูง 2.50 เมตร จำนวน 2 ห้อง โดยมีวัสดุผนังอาคารเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนครึ่งแผ่นติดตั้งฉนวนโฟมโพลีสไตรีนแบบขยายตัวไว้ที่ภายในและภายนอกของผนัง และติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนในห้องทดลองแต่ละหลัง จากนั้นทำการเก็บข้อมูลด้านอุณหภูมิด้วยเครื่อง data logger (HOBO) และเก็บข้อมูลอัตราการใช้พลังงานปรับอากาศด้วยมิเตอร์ไฟฟ้า จากนั้นจึงนำผลข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า ในสภาวะที่ไม่มีการปรับอากาศ การติดตั้งฉนวนภายนอกสามารถลดการถ่ายเทความร้อนในช่วงที่อุณหภูมิอากาศภายนอกมีค่าสูงสุดได้ถึง 16.71% โดยมีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิอากาศภายในช่วงกลางวันต่ำและคงที่มากกว่าการติดตั้งฉนวนภายใน ในสภาวะที่มีการปรับอากาศเฉพาะช่วงกลางวันและกลางคืน การติดตั้งฉนวนภายในสามารถลดอัตราการใช้พลังงานปรับอากาศได้มากกว่าการติดตั้งฉนวนภายนอก 8.57% และ 32.6% ตามลำดับ เนื่องจากใช้พลังงานในการปรับอากาศช่วงเริ่มต้นน้อยกว่าการติดตั้งฉนวนภายนอก 34.76 – 35.1 % โดยในช่วงเปิดเครื่องปรับอากาศจะมีอุณหภูมิอากาศภายในเฉลี่ยต่ำกว่า ส่วนในสภาวะที่มีการปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง การติดตั้งฉนวนภายนอกสามารถลดอัตราการใช้พลังงานปรับอากาศได้มากกว่าการติดตั้งฉนวนภายใน 0.57% ในสภาวะที่ไม่มีการปรับอากาศ หรือสภาวะที่มีการปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง การติดตั้งฉนวนภายนอกเป็นตำแหน่งที่มีความเหมาะสม เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการลดการถ่ายเทความร้อนได้ดี ทำให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยภายในต่ำและมีความคงที่ ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ จึงมีอัตราการใช้พลังงานปรับอากาศน้อยกว่าการติดตั้งฉนวนภายใน ส่วนในสภาวะที่มีการเปิด–ปิดเครื่องปรับอากาศเป็นช่วงเวลา การติดตั้งฉนวนภายในเป็นตำแหน่งที่มีความเหมาะสม เนื่องจากใช้พลังงานปรับอากาศช่วงเริ่มต้นน้อย อุณหภูมิอากาศภายในเย็นลงได้รวดเร็ว ทำให้สามารถลดอัตราการใช้พลังงานปรับอากาศรวมได้มาก และมีอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงปรับอากาศต่ำกว่าการติดตั้งฉนวนภายนอก |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |