การสร้างสรรค์บทเพลงชุด เส้นสายลายไหมไทย
รหัสดีโอไอ
Title การสร้างสรรค์บทเพลงชุด เส้นสายลายไหมไทย
Creator อังคณา ใจเหิม
Contributor บุษกร บิณฑสันต์
Publisher จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Publication Year 2554
Keyword ดุริยางควิทยา -- ไทย, ภูมิปัญญาชาวบ้าน -- ไทย, การทอผ้า -- ไทย, ผ้าไหม -- ไทย, Musicology -- Thailand, Local wisdom -- Thailand, Weaving -- Thailand, Silk -- Thailand
Abstract การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อประพันธ์บทลำนำและทำนองเพลงชุดเส้นสายลายไหมไทย สร้างองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์บทเพลง และเผยแพร่ผลงานในรูปแบบการจัดแสดงดนตรี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางคศิลป์ไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าไหมไทย 6 ประเภท ใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ ได้แก่ ผ้าจก ผ้าล้วง ภาคกลาง ได้แก่ ผ้ามัดหมี่ ภาคอีสาน ได้แก่ ผ้าขิด ผ้าแพรวา ภาคใต้ ได้แก่ ผ้ายก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และแบบสอบถาม สร้างสรรค์งานโดยศึกษาวิธีทอ ลวดลาย ตลอดถึงความเกี่ยวข้องในการทอผ้าไหมแต่ละประเภท นำมาประพันธ์บทเพลงโดยใช้วิธีการประพันธ์แบบอิสระ เป็นการคิดและประดิษฐ์ทำนองขึ้นใหม่ สอดแทรกสำเนียงดนตรีท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค ผลงานการประพันธ์เพลงมีจำนวน 6 เพลง ประกอบด้วย 1. เพลงผ้าจก เป็นเพลงสำเนียงภาคเหนือผสมผสานสำเนียงจีน การดำเนินทำนองมีเทคนิคการบรรเลงลักจังหวะ และการใช้ลูกสะบัด เสมือนการจกไหมเส้นยืนขึ้น-ลง และการตวัดเส้นไหมเสริม สลับกันไปมาจนเกิดเป็นลวดลาย 2. เพลงผ้าล้วง เป็นเพลงสำเนียงภาคเหนือ การดำเนินทำนองมีการใช้ลูกเหลื่อมหรือลูกล้วง บรรเลงคาบเกี่ยวเหลื่อมล้ำกัน สื่อให้เห็นถึงการล้วงสอดเส้นไหมเกิดเป็นลวดลายน้ำไหล 3. เพลงผ้ามัดหมี่ เป็นเพลงสำเนียงภาคกลาง การดำเนินทำนองมีการบรรเลงทางกรอ สื่อถึงการสาวเส้นไหม มีการใช้ลูกเท่า เสมือนการมัดไหมเป็นเปาะๆ การใช้ลูกต่อบรรเลงเชื่อมต่อทำนองให้ได้ใจความที่สมบูรณ์ เสมือนการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งต้องนำลายที่มัดไว้มาทอต่อกันเป็นลวดลายให้สมบูรณ์ 4. เพลงผ้าขิด เป็นเพลงสำเนียงอีสาน การดำเนินทำนองมีการบรรเลงทางเก็บสลับกับการบรรเลงทางกรอ สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่มีทั้งโลดโผนและเรียบง่าย สอดแทรกเทคนิคการลักจังหวะ เสมือนการสะกิดเส้นไหมให้เกิดลวดลาย 5. เพลงผ้าแพรวา เป็นเพลงสำเนียงอีสาน การดำเนินทำนองมีการบรรเลงทางพื้น เครื่องดนตรีมีอิสระในการสร้างทางกลอน เสมือนการทอผ้าแพรวาที่มีอิสระในการใช้สีสันที่หลากหลาย สอดแทรกเทคนิคการใช้ลูกสะบัดและเทคนิคการลักจังหวะ คล้ายกับการตวัดและการสะกิดเส้นไหม เป็นการผสมผสานระหว่างจกกับขิด 6. เพลงผ้ายก เป็นเพลงสำเนียงใต้ตอนล่าง การดำเนินทำนองมีการใช้ลูกล้อและลูกขัด เสมือนไหมเส้นยกกับเส้นข่ม สลับล้อขัดกันไปมาจนเกิดลวดลายตลอดผืน งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านดุริยางคศิลป์ไทยและหัตถกรรมไทย เรียบเรียงการแปรทำนอง การสร้างแนวทำนองประสานเสียง โดยยึดหลักความสัมพันธ์ของเสียง มีการแบ่งหน้าที่การดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีในรูปแบบใหม่ เอกภาพของบทเพลงมีรูปแบบจังหวะและรูปแบบทำนอง ที่สอดคล้องกับวิธีการทอผ้าแต่ละประเภท และเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงสื่อสำเนียงของความเป็นเอกลักษณ์ถิ่น
URL Website cuir.car.chula.ac.th
Chulalongkorn University

บรรณานุกรม

EndNote

APA

Chicago

MLA

ดิจิตอลไฟล์

Digital File #1
DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ