![]() |
การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา |
Creator | สุธิศักดิ์ มณีมนต์ |
Contributor | นารัต เกษตรทัต, วิชุลดา เกียรติมงคล |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | การบริบาลทางเภสัชกรรม, ทารก -- โภชนาการ, หลอดเลือดดำ, การให้อาหารทางหลอดเลือดดำ, Pharmaceutical services, Infants -- Nutrition, Veins, Parenteral feeding of children |
Abstract | วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลจากการบริบาลทางเภสัชกรรมต่อผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ ด้านผลลัพธ์ทางคลินิก ได้แก่ น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปก่อนและหลังการได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ รูปแบบและจำนวนครั้งของภาวะแทรกซ้อน จำนวนปัญหาจากการใช้ยาที่เกิดจากอันตรกิริยาทางกายภาพของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำ ด้านการให้คำแนะนำและการยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ต่อคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาจากใช้ยาที่เกิดจากอันตรกิริยาทางกายภาพของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำ และภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ วิธีวิจัย ทำการศึกษาเชิงพรรณนาในทารกแรกเกิดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำนาน 5 วันขึ้นไป ที่หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2554 เภสัชกรให้การบริบาลทางเภสัชกรรมด้วยการค้นหา ติดตาม และประเมินผลเกี่ยวกับน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลง ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาจากการใช้ยาที่เกิดจากอันตรกิริยาทางกายภาพของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยทารกแรกเกิด ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสูตรอาหารทางหลอดเลือดดำที่ไม่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาจากการใช้ยาที่เกิดจากอันตรกิริยาทางกายภาพของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำ ผลการศึกษา ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การศึกษา 103 ราย เป็นชาย 65 ราย หญิง 38 ราย ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำวันละ 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1,251 ครั้ง หลังจากสิ้นสุดการให้อาหารทางหลอดเลือดดำพบทารกร้อยละ 43.6 มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน พบภาวะแทรกซ้อน 696 ครั้ง (ร้อยละ 55.6) แบ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเทคนิคในการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ 12 ครั้ง ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ 5 ครั้ง และภาวะแทรกซ้อนทางเมแทบอลิก 679 ครั้ง ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ ภาวะเลือดมีฟอสฟอรัสต่ำและภาวะเลือดมีโพแทสเซียมต่ำ ในการศึกษานี้ไม่พบปัญหาจากการใช้ยาที่เกิดจากอันตรกิริยาทางกายภาพของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำ เภสัชกรให้ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาแก่ผู้เข้าร่วมวิจัย 75 ราย จำนวน 414 ครั้ง ได้รับการยอมรับ 403 ครั้ง (ร้อยละ 97.3) สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ 315 ครั้ง (ร้อยละ 84.8) สรุป ทารกแรกเกิดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำที่เตรียมขึ้นตามความต้องการของผู้ป่วยเฉพาะราย จำเป็นต้องได้รับการติดตามผลจากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของเภสัชกรในการบริบาลทางเภสัชกรรมด้วยการค้นหา ติดตาม และประเมินผลจากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำได้รับการยอมรับที่ดีจากแพทย์ และสามารถป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำในทารกแรกเกิดที่เกิดขึ้นได้ |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |