![]() |
การเล่าเรื่องและสื่อความหมายของภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้น |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | การเล่าเรื่องและสื่อความหมายของภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้น |
Creator | ปิยวรรณ จิตสำราญ |
Contributor | จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2554 |
Keyword | การเล่าเรื่อง, ภาพยนตร์ -- เอเชียตะวันออก, Narration (Rhetoric), Motion pictures -- East Asia |
Abstract | การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างการเล่าเรื่องและลักษณะการใช้ภาษาภาพยนตร์เพื่อสื่อความหมาย รวมถึงทัศนคติของผู้ชมต่อภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้น โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Textual Analysis) ภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้นในช่วงปี 1999-2011 จำนวน 12 เรื่อง ประกอบกับการใช้วิธีการสำรวจ (Survey Research) ทัศนคติของผู้ชมโดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 150 คน ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้นประกอบไปด้วย แก่นเรื่องเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสูญเสียที่เกิดจากความอาฆาตแค้น โดยนำเสนอผ่านแก่นความคิดต่างๆ เช่น การล้างแค้นและการให้อภัย, ความทรงจำอันเลวร้ายกับการล้างแค้น, ความอยุติธรรมกับการแก้ปัญหาด้วยการล้างแค้น, สังคม.ตัวการสำคัญของความแค้น, ความรักและความแค้น โดยมีโครงเรื่อง คือ ตัวละครเอกเผชิญปัญหาส่งผลให้มีความรู้สึกโกรธแค้น และแสดงออกโดยการล้างแค้นเพื่อต้องการจะแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นเรื่องราวก็จะคลี่คลายลงหลังจากที่ตัวละครนั้นได้รับผลเสียจากการล้างแค้น ในการสร้างตัวละครของภาพยนตร์มีการออกแบบให้ตัวละครทั้งสองฝ่ายมีลักษณะแตกต่างกันทั้งทางกายภาพและจิตใจ เพื่อให้คนดูได้รับและเอาใจช่วยในลักษณะของความเป็นพระเอกและตัวร้าย หรือ การสร้างตัวละครให้มีลักษณะเหมือนกันแต่เพียงเกิดเหตุจำเป็น หรือ สถานการณ์บางอย่างบีบคั้น เป็นเหตุให้ตัวละครต้องแสดงออกถึงความชั่วร้ายออกมาเพื่อความอยู่รอดนั้น เหล่านี้ผู้สร้างทั้งหลายมีความตั้งใจที่จะสร้างให้ตัวละครทั้งสองฝ่ายมีความคล้ายคลึงกับความเป็นมนุษย์จริงให้มากที่สุด ลักษณะการใช้ภาษาภาพยนตร์เพื่อสื่อความหมาย ในรูปแบบองค์ประกอบทางภาพและเสียง มีลักษณะการสื่อความหมายดังนี้ ใช้องค์ประกอบการถ่ายภาพยนตร์ เช่น มุมกล้อง ขนาดของภาพ การเคลื่อนกล้องเพื่อนำเสนอลักษณะของตัวละคร ชะตากรรมของตัวละคร มีการย้อนให้เห็นถึงอดีตที่เป็นปมปัญหาทำให้ตัวละครลุกขึ้นมาล้างแค้นโดยการ Flash back ภาพในอดีต การใช้เทคนิคตัดต่อคัทสั้นเพื่อเน้นเล่าเรื่องให้ตื่นเต้นน่าติดตาม สำหรับฉาก แสงและเงารวมถึงการใช้สีในภาพยนตร์ มักสะท้อนถึงลักษณะความผิดปกติของตัวละคร การปิดบังซ่อนเร้นนำเสนอด้านมืดของตัวละคร และองค์ประกอบทางด้านเสียง มักใช้เสียงบทสนทนาหรือเสียงเพลงประกอบ อธิบายชีวิตของตัวละคร ณ ขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นช่วงที่ตัวละครตกอยู่ภาวะปัญหาโดยสรุปแล้วองค์ประกอบทั้งหมดดังที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ผูกโยงไปสู่แก่นของเรื่องที่ต้องการให้เห็นถึงโทษที่เกิดจากความแค้น ทัศนคติของผู้ชมภาพยนตร์เอเชียตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้นพบว่า ภาพยนตร์กลุ่มตัวอย่างสามารถสร้างการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายในเกณฑ์ที่ดี หมายถึง ผู้ชมมีความเข้าใจสิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารหรือถ่ายทอดสอดคล้องตามผลวิเคราะห์ในส่วนของการเล่าเรื่องและสื่อความหมาย |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |