![]() |
ทางเลือกในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในชุมชนบางน้อยนอก อ. บางคนที จ.สมุทรสงคราม |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Title | ทางเลือกในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในชุมชนบางน้อยนอก อ. บางคนที จ.สมุทรสงคราม |
Creator | สมปอง จึงสุทธิวงค์ |
Contributor | กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์, ชวลิต นิตยะ |
Publisher | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Publication Year | 2551 |
Keyword | ชุมชน -- ไทย -- สมุทรสงคราม, ที่อยู่อาศัย -- ไทย -- สมุทรสงคราม, ที่อยู่อาศัย -- การซ่อมแซม, ชุมชนบางน้อยนอก (สมุทรสงคราม) |
Abstract | การศึกษาเรื่องทางเลือกในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในชุมชนบางน้อยนอก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพที่อยู่อาศัย และการใช้วัสดุในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ศึกษาความสามารถในการจ่ายค่าซ่อมแซมของผู้อยู่อาศัย เพื่อวิเคราะห์หาทางเลือกในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายของผู้อยู่อาศัย โดยทำการศึกษาจาก ข้อมูลเอกสาร ภาพถ่าย การสำรวจและการสังเกต รูปแบบที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง การสัมภาษณ์ ผู้อยู่อาศัย ร้านค้าจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ช่างพื้นถิ่น โดยศึกษากรณีตัวอย่าง 5 รูปแบบ คือ เรือนแถวริมน้ำ เรือนไทยภาคกลาง เรือนประยุกต์ เรือนพื้นถิ่น อาคารสมัยใหม่ จำนวน 9 หลัง ที่ตั้งในพื้นที่ริมน้ำ 5 หลัง พื้นที่สวน 4 หลัง วิเคราะห์ทางเลือกในการซ่อมแซมโดยใช้วิธีเชิงสถิติ การประมาณราคา และการคำนวณหาความสอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายของผู้อยู่อาศัย ผลการศึกษาพบว่า ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร ที่อยู่อาศัยที่มีปัญหาต้องการซ่อมแซมมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ ประเภทเรือนแถวริมน้ำ เรือนพื้นถิ่น เรือนไทยภาคกลาง ต้องการการซ่อมแซม 4 ส่วน คือ วัสดุมุง ผนัง พื้น และเสาอาคาร ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนเสาอาคาร ซึ่งเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้างเพื่อถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดิน ซึ่งพบว่าลักษณะดินในพื้นที่ริมน้ำ ที่ระดับผิวดินถึงระดับ -13.00 เมตร จะเป็นดินโคลนสีดำที่ไม่มีความสามารถในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเสาอาคารทรุด ปัญหาเสาอาคารทรุดนี้ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ ดังนั้นช่างพื้นถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมเสาอาคาร ให้กับชาวบ้านตามกระบวนวิธีพื้นบ้าน พบว่า มีการซ่อมแซม 3 วิธี คือ 1.การล้อมเสาส่วนที่ชำรุดด้วยแผ่นสังกะสีแล้วหยอดคอนกรีตลงไปตามช่อง 2. การแซมด้วยเสาคอนกรีตแต่ไม่ถอนเสาเดิมออก 3. การแซมด้วยเสาคอนกรีตแต่ถอนเสาเดิมออก การศึกษาด้านความสามารถในการจ่ายพบว่า ผู้อยู่อาศัยมีอาชีพที่หลากหลาย ส่วนใหญ่มีรายได้ครัวเรือนค่อนข้างน้อย มีรายได้มากกว่ารายจ่าย มียอดคงเหลือแต่ละเดือนและมีความสามารถในการจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยน้อยมาก จึงเลือกใช้วัสดุที่มาซ่อมแซมที่มีราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่นเท่านั้น วัสดุทางเลือกในการซ่อมแซม 4 ส่วนหลักของโครงสร้าง อาคารคือ (1) วัสดุมุงมี 2 ชนิด (2) ผนังมี 5 ชนิด (3) พื้นมี 3 ชนิด และ (4) ฐานรากมี 3 ชนิด รวมทั้งสิ้น 13 ชนิด มีทางเลือกในการซ่อมแซมในแต่ละรูปแบบอาคาร คือ (1) ซ่อมแซมครั้งเดียวพร้อมกันทุกส่วนมีทางเลือก 90 ทางเลือก (2) การแยกซ่อมแซมแต่ละส่วนของโครงสร้างมีทางเลือก 13 ทางเลือก และพบว่า ทางเลือกในการซ่อมแซมที่ผู้อยู่อาศัยส่วนมากมีความสามารถในการจ่ายได้ คือ การซ่อมแซมแบบแยกซ่อมแต่ละส่วนของโครงสร้าง และในการซ่อมแซมเสา วัสดุที่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่สามารถจ่ายได้มากที่สุด คือ เสาคอนกรีต แต่ที่จริงแล้ว ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องการใช้ไม้มาทำการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากกว่า แต่เนื่องจากไม้มีราคาสูงทำให้ชาวบ้านไม่มีความสามารถในการจ่ายได้ อีกทั้งไม้ยังมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการก่อสร้างในพื้นที่ เนื่องจาก มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นตัว และเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ได้ และไม้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์ความรู้ในการก่อสร้างบ้านเรือนด้วยช่างพื้นถิ่นให้สามารถคงอยู่ต่อไป ข้อเสนอแนะในการวิจัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ท้องถิ่น การเคหะแห่งชาติ ควรพิจารณาการช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นและมีรายได้น้อย ในการซ่อมแซมบ้านโดย 1. แนะนำวิธีการซ่อมแซมที่ถูกต้อง 2. สนับสนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น เช่น การให้กู้ยืมเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยควรใช้วัสดุและช่างท้องถิ่น เนื่องจากมีราคาถูกที่สุด ในระยะยาว 1. ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไม้มาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน 2. ศึกษาหาวัสดุทดแทน เช่น การนำไม้จากต้นมะพร้าวที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่เป็นจำนวนมากมาก่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนแทนการซื้อไม้ที่มีราคาแพง และที่สำคัญเป็นวัสดุที่หาง่ายและสามารถผลิตได้เองในท้องถิ่น 2.ศึกษา สืบสาน อนุรักษ์ ความรู้จากภูมิปัญญาการก่อสร้างบ้าน โดยการสืบค้นช่างพื้นถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่และนำความรู้ เทคนิควิธีการก่อสร้างต่าง ๆ มาบันทึกสำหรับการเรียนรู้และควรมีหลักสูตรการก่อสร้างด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ |
URL Website | cuir.car.chula.ac.th |