![]() |
การคุ้มครองลูกจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูกตามฤดูกาลตามกฎหมายไทย |
---|---|
รหัสดีโอไอ | |
Creator | สุรศักดิ์ มีบัว |
Title | การคุ้มครองลูกจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูกตามฤดูกาลตามกฎหมายไทย |
Contributor | บรรเจิด สิงคะเนติ, วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม |
Publisher | สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ |
Publication Year | 2567 |
Journal Title | วารสารการบริหารปกครอง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ |
Journal Vol. | 13 |
Journal No. | 2 |
Page no. | 159-191 |
Keyword | การคุ้มครองแรงงาน, ลูกจ้างตามฤดูกาล, งานเกษตรกรรม, งานเพาะปลูก |
URL Website | https://so01.tci-thaijo.org/index.php/gjournal-ksu |
Website title | วารสารการบริหารปกครอง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ |
ISSN | ISSN 3027-8589 (Online) |
Abstract | การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดพื้นฐาน วิวัฒนาการ และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองลูกจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูกตามฤดูกาลตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายต่างประเทศและกฎหมายไทย รวมถึงเพื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมของไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 วิธี อันได้แก่ วิธีแรก การรวบรวมข้อมูลเอกสารจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เกี่ยวข้อง วิธีที่สอง การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ณ สถานที่จริง พร้อมกับการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจ้างลูกจ้างกลุ่มนี้อย่างแพร่หลายในไร่อ้อย สวนผลไม้ และการทำนาข้าว โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี ลำพูน พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรีและวิธีที่สาม การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างประชากร 3 กลุ่ม ผ่านแบบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ผู้เขียนสร้างขึ้นในลักษณะคำถามปลายเปิด อันได้แก่ กลุ่มแรก ลูกจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูกตามฤดูกาล จำนวน 7 คน กลุ่มที่สอง นายจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูกตามฤดูกาล จำนวน 7 คน กลุ่มที่สาม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระช่วยเหลือแรงงาน คือ กระทรวงเเรงงาน และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จำนวน 3 คน รวมกลุ่มตัวอย่างประชากรทั้งสิ้น 17 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเกษตรกรรมไทย ผลการศึกษา ในกรณีแรกพบว่าลูกจ้างในงานเพาะปลูกตามฤดูกาล ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วยไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยในบางเรื่องกฎหมายไทยไม่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างที่นายจ้างพึงต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างกลุ่มนี้เอาไว้ จึงเกิดช่องว่างที่ไม่มีกลไกทางกฎหมาย สำหรับนำมาเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมเกษตรกรรม ผู้เขียนเห็นว่าควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของไทย โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างไว้ตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมเกษตรกรรม จนนำไปสู่การถนอมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งเสนอให้ออก (ร่าง) กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองลูกจ้างในงานเกษตรกรรมเพาะปลูก พ.ศ. .... โดยเสนอให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษในบางเรื่อง อันได้แก่ กำหนดเวลาพักระหว่างการทำงาน กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี กำหนดข้อห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานยามวิกาล กำหนดค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร กำหนดเวลาทำงานปกติและค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องที่หรือจังหวัดที่ใช้บังคับ และห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ในกรณีที่สอง พบว่าลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานสำหรับงานเกษตรกรรมในบางเรื่อง ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของไทย โดยเสนอให้มีการกำหนดความคุ้มครองลูกจ้างที่สอดคล้องกับการจ้างระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 90 วัน หรือการจ้างที่เป็นครั้งคราว ซึ่งลูกจ้างเข้าทำงานและออกจากงานของนายจ้างคนเดียวกันบ่อยครั้ง อันได้แก่ การกำหนดวันหยุดพักผ่อน ให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่พักอาศัยแยกเป็นสัดส่วนกับสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายทางการเกษตร และจัดสวัสดิการเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการป้องกันสารเคมี ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั่วไปที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานสำหรับงานเกษตรกรรมในบางเรื่อง ผู้เขียนเห็นว่าควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของไทย โดยเสนอห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิงหรือหญิงมีครรภ์ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายที่ไม่สอดคล้องสำหรับงานเกษตรกรรม และกำหนดมาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอันจำเป็น อันได้แก่ การจัดเครื่องมือและอุปกรณ์ในการป้องกันส่วนบุคคล การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือหรืออุปกรณ์ และการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรที่ถูกวิธีให้แก่ลูกจ้าง |