11 มี.ค. 2020 คือ วันที่องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ โรคโควิด-19 เป็น "การระบาดใหญ่ (Pendemic)" หลังพบผู้ติดเชื้อใน 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อคนแรกของโลกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2019 นั่นเท่ากับว่า ตัดภาพมาถึงวันที่ 11 มี.ค. 2020 ชาวโลกได้อยู่ร่วมกับโควิด-19 มาครบ 2 ปีเต็มเข้าให้แล้ว

ระหว่าง 2 ปี อันยาวนานที่ทำให้มนุษยชาติทั้งต้องสูญเสีย เจ็บปวด และจำเป็นต้องห่างไกลกันอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ล่าสุด ก้าวย่างของมนุษยชาติอยู่ ณ จุดใดของการสิ้นสุดกันแล้ว...

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในวันครบรอบ 2 ปี

จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก : 453,925,620 คน
จำนวนรวมผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วัน : 47,181,305 คน

จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลก : 6,032,429 ศพ
จำนวนรวมผู้เสียชีวิตในรอบ 28 วัน : 238,018 ศพ

จำนวนการฉีดวัคซีนรวม : 10,664,892,901 โดส
จำนวนการฉีดวัคซีนในรอบ 28 วัน : 499,438,002 โดส

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดในรอบ 28 วัน

เยอรมนี จำนวนผู้ติดเชื้อ 4,746,018 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 5,591 ศพ
จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งหมด 16,850,619 คน
จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมรวมทั้งหมด 125,337 ศพ

หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 2022

 

รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดจาก WHO :

จากข้อมูลอัปเดตด้านระบาดวิทยาโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 ก.พ.-8 มี.ค. 2022 ของ WHO

ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในสัดส่วน 5% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก และผู้เสียชีวิตมากกว่า 52,000 ศพ

โดย ณ วันที่ 6 มี.ค.2022 มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 433 ล้านคน และเสียชีวิตสะสมมากกว่า 5,900,000 ศพ ทั่วโลก

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออก กลายเป็นภูมิภาคที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 46% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งส่วนทางกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตะวันออกกลาง ลดลง 46% แอฟริกา ลดลง 40% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 31% อเมริกา ลดลง 24% และ ยุโรป ลดลง 18%

ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีรายงานผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์เพิ่มขึ้นถึง 29% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนภูมิภาคตะวันออกกลาง สถานการณ์เริ่มทรงตัว หลังจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2% ส่วนแอฟริกา ลดลง 39% ยุโรป ลดลง 15% อเมริกา ลดลง 9% และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 3%

อย่างไรก็ดี WHO ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มลดลงในหลายภูมิภาคของโลกว่า ควรมีการตีความด้วยความระมัดระวังเนื่องจากหลายประเทศใช้กลยุทธ์การทดสอบแบบกำหนดเป้าหมาย ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริง

 

2 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติอยู่จุดใดของการสิ้นสุด

ความคืบหน้า...

การเรียนรู้และวิธีการที่หลากหลายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 :

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มเรียนรู้และมองหาวิธีที่แตกต่างกันเพื่อให้พลเมืองสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ เช่น การเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน, พาสปอร์ตวัคซีน, รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่างๆ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง เพื่อผ่อนคลายเครียดและความเหนื่อยล้าให้กับประชาชน

ความก้าวหน้าของวัคซีน :

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วัคซีนที่ถูกพัฒนาและนำมาใช้ได้เร็วที่สุด คือ วัคซีนโรคคางทูม ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนานานถึง 4 ปี แต่ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 12 เดือน บริษัทไฟเซอร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เป็นบริษัทแรก และภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีวัคซีนรวมกันถึง 12 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในส่วนต่างๆ ของโลก และ 19 ชนิดที่ถูกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนอีกมากกว่า 100 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกด้วย

ว่าแต่...มาถึงวันนี้ คุณได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กันไปคนละกี่เข็มกันแล้วนะ?

หน้ากากอนามัยยังคงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะของมนุษย์ต่อไป :

ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า หน้ากากอนามัย จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดหรือไม่ แต่ ณ วันนี้ หน้ากากอนามัยได้ แสดงคำตอบด้วยตัวของมันเองแล้วว่า มันคือสิ่งที่มีความจำเป็นโดยเฉพาะหลังพบข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้ ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ก็ยังต้องกลับลำ เปลี่ยนคำแนะนำให้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสูตร กลับไปสวมหน้ากากอนามัยเวลาไปอยู่สถานที่เสี่ยง

สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวัง

1.การกลายพันธุ์ของไวรัส

การแพร่ระบาดในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรในระดับต่ำ ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะการแพร่ระบาดจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัส และหากโชคร้าย ไวรัสที่กลายพันธุ์สามารถเพิ่มอัตราการติดเชื้อ รวมถึงอาการเจ็บป่วยหนักมากขึ้น บางทีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในเวลานี้ อาจใช้ไม่ได้ผล

2. ภูมิคุ้มกันลดลง

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ กลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุและมีโรคร่วม แม้จะได้รับวัคซีนครบสูตรแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไประดับภูมิคุ้มกันมักจะลดลง ด้วยเหตุนี้กลุ่มเปราะบางจึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป

3.อาการ Long COVID

การแพร่ระบาดที่ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ซึ่งแม้แต่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร รวมถึง กลุ่มคนที่หายจากอาการป่วยโรคโควิด ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำได้ ย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อ อาจเกิดอาการ Long COVID โดยจากข้อมูลในปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19

ขอบคุณที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2339730

DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ