ด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีนโยบายในการพัฒนาวารสารวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เป็นมาตรฐานสากล ในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Journal) ภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักวิจัยและนักวิชาการให้กว้างไกลในระดับนานาชาติ นโยบายดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา โดย วช. ได้ใช้รูปแบบความร่วมมือจัดทำวารสารเพื่อจัดพิมพ์ NRCT Officiale-Journal ด้านสังคมศาสตร์ โดยการให้ทุนสนับสนุนการจัดทำวารสารวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์กับหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการในการจัดทำวารสารที่มีมาตรฐานสากล โดยใช้ชื่อว่า Social Science Asia เพื่อส่งเสริมวงการวิจัยและวงการวิชาการของไทยให้มีผลงานเผยแพร่ไปในระดับนานาชาติมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ ในลักษณะ e-Journal โดยสามารถเข้าถึง และดาวน์โหลดบทความวารสารได้ที่ www.socialscienceasia.nrct.go.th และปัจจุบันวารสาร Social Science Asia ได้จัดอยู่ในฐานข้อมูล TCI ในกลุ่ม ๒

         จากผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวข้างต้น ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ วช. จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการจัดทำ NRCT Official e-Journal ด้านสังคมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนงบประมาณทุนอุดหนุนฯ จำนวน ๔ ทุน ทุนละ ๒๐๐,๐๐๐  บาท เพื่อจัดทำวารสาร Social Science Asia ปี ๒๐๒๓ มีรายละเอียด ดังนี้

          ๑. วัตถุประสงค์

                   ๑.๑ เพื่อพัฒนาวารสารวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เป็นมาตรฐานสากลในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Journal) ภาษาอังกฤษ

                   ๑.๒ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ด้านสังคมศาสตร์ของนักวิจัย นักวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศให้มีผลงานเผยแพร่ไปในระดับนานาชาติ
          ๒. คุณสมบัติของวารสาร

                   ๒.๑ วารสาร Social Science Asia เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ด้านสังคมศาสตร์ ซึ่ง วช. ต้องการเผยแพร่ และถ่ายทอดผลงานวิจัยและผลงานวิชาการในรูปแบบของวารสารวิชาการแบบดิจิทัลที่มีการเผยแพร่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแบบออนไลน์ได้แบบเสรี หรือ Open Access ที่ครอบคลุมทุกสาขาทางด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ สาขารัฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา นิเทศศาสตร์ อาชญาวิทยา คติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ นิติศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                   ๒.๒ การนำเสนอบทความในวารสารให้ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น และต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ก่อนนำผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะ

         ๒.๓ ต้องมีกองบรรณาธิการ / คณะบรรณาธิการที่ประกอบด้วย

            - ผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ผู้ทรงคุณวุฒิในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์  และรองศาสตราจารย์ ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องในสาขาวิชา

            - บุคคลภายนอกสถาบันฯ ที่จัดพิมพ์วารสารนั้น  หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                      - วช. อาจพิจารณาผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์ที่ วช. เห็นสมควรเข้าร่วมเป็น Editorial Committee ในกองบรรณาธิการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แนะนำ และชี้แนะแนวทางการจัดทำวารสารให้เป็นไปในทิศทางที่สอดรับกับ Social Science Asia

                  ๒.๔ กองบรรณาธิการจะต้องมีศักยภาพในด้านการปฏิบัติการ ด้านการวางแผน ด้านการประสานงาน  ด้านการบริการ มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์เป็นอย่างดีในด้านการจัดทำวารสารวิชาการ ทั้งนี้ กองบรรณาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาบทความในวารสารทั้งหมด

                   ๒.๕ กองบรรณาธิการสามารถกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน รูปแบบการพิมพ์ และบรรณานุกรม ของบทความวิชาการและบทความวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาการรับลงตีพิมพ์ได้เอง 

                   ๒.๖ ผู้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนบทความทั้งหมดควรมาจากสถาบันอื่นที่ไม่ใช่สถาบันที่จัดทำวารสารนั้น 

                 ๒.๗ บทความต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อย ๒ ท่าน (จากหน่วยงานภายนอกอย่างน้อย ๑ ท่าน) ในลักษณะผู้พิจารณาไม่ทราบชื่อผู้แต่ง และผู้แต่งไม่ทราบชื่อผู้พิจารณา (Double-blind peer review) โดยผู้ประเมินบทความต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ทำงานวิจัย และมีผลงานการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

                   ๒.๘ บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารสามารถประกอบด้วยบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความปริทัศน์ บทความเรื่องสั้น จำนวนทั้งสิ้น ๕- ๖ บทความ และต้องมีบทวิจารณ์หนังสือ book review ๑ บทความ

                   ๒.๙ บทความต่าง ๆ จะต้องไม่มีการลอกเลียน และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

         ๓. หลักเกณฑ์และวิธีให้การสนับสนุน

                   ๓.๑ การตัดสินให้ทุนจะผ่านผู้ทรงคุณวุฒิที่ วช. แต่งตั้งให้พิจารณา และความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ถือเป็นข้อสิ้นสุด โดยพิจารณาจาก

                         ๓.๑.๑ คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุน บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และผลงานที่ผ่านมา

                         ๓.๑.๒ รายละเอียดของวารสารที่จะจัดทำเพื่อเสนอขอรับทุน

                         ๓.๑.๓ บทความที่จะเผยแพร่ในวารสาร


                          
ผู้ขอรับทุนสามารถเสนอรายละเอียดตามรูปแบบ และความเหมาะสมของวารสารที่ขอรับทุน เนื่องจากวารสารในแต่ละสาขามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทาง วช. จึงไม่ได้กำหนดรูปแบบ และแบบฟอร์ม คณะกรรมการจะพิจารณาจากความน่าสนใจของวารสาร องค์ประกอบของบทความ ความเหมาะสมในการจัดวางเนื้อหาส่วนต่าง ๆ  ทั้งนี้ ขอให้ระบุรายชื่อบทความที่คาดว่าจะนำมาเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับทุนมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย          

                   ๓.๒ วช. กำหนดให้ทุนสนับสนุนการดำเนินการจัดทำวารสารทุนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๔ ทุน

               ๓.๓ ระยะเวลาส่งมอบวารสาร ๖ เดือน  โดยผู้รับทุนต้องส่งมอบวารสาร Social Science Asia ในรูปแบบ MS.word และ PDF ไฟล์ และหลักฐานการประเมินบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิสำหรับนำส่ง TCI ในการประเมินคุณภาพวารสาร (บทความละ ๒ ท่าน)

         ๔. เอกสารและหลักฐานประกอบการขอรับทุน

                   ผู้สนใจสามารถขอรับทุน โดยจัดทำข้อเสนอขอรับทุน จำนวน ๑ ชุด ส่งมาที่ ฝ่ายดัชนีและประเมินสถานภาพการวิจัยและนวัตกรรม กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ๑๙๖ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ ๑๐๙๐๐ โทร ๐๒-๕๖๑-๒๔๔๕ ต่อ ๗๑๙ภายในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ