มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ รวบรวมสุดยอดผลงาน นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ โดยฝีมือคนไทย นำไปต่อยอดภาคเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าทางการตลาด...

มหกรรมงานวิจัย รวบรวมสุดยอดผลงานฝีมือคนไทย เพิ่มมูลค่าตลาด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 7-10 เม.ย. จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ว่า เป็นเวทีระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยรวบรวมผลงานวิจัยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย นำผลงานมาจัดแสดง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ประยุกต์ต่อยอดได้เป็นอย่างดี และยังได้เรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการจากองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค อาทิ งานวิจัย ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา, งานวิจัย “เสวียน เทคโนโลยีชุมชนเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์” มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, งานวิจัย “บียอนด์ก๊อซ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถดูดซับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือน้ำหนอง ได้ดีกว่าผ้าก๊อซที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดถึง 50 เท่า เป็นต้น

อ.สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ คณบดีคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดถึงงานวิจัย ”บ้านปึก บาย มูพา” ว่า ผ้าทอบ้านปึก มีลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์มีอยู่ 2 ลาย คือ ลายไส้ปลาไหล กับ ลายนกกระทา และมักจะทอด้วยสีสันสดใส เป็นสินค้าประจำตำบลของบ้านปึก จ.ชลบุรี ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปี โดยชาวบ้านปึก ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชประสงค์อยากให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม จึงส่งช่างทอผ้าหลวงมาสอนทอผ้าให้กับชาวบ้าน

ทั้งนี้ คณะทำงานได้ทำการศึกษาพัฒนาใน 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาสีให้มีความคลาสสิก ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยเลือกใช้สีพื้น สีขาว สีดำ สีคราม ต่อมาได้พัฒนาลวดลาย ด้วยการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในพื้นที่สู่การสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ ที่สามารถเล่าเรื่องให้กับผ้าทอบ้านปึกได้ และสุดท้ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมที่ชาวบ้านเคยขายเป็นผ้าผืน ได้ออกแบบดีไซน์ตัดเย็บชุดสำเร็จ ด้วยเทคนิคการตัดเย็บชั้นสูงในแบบ กูตูร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยังเพิ่มเรื่องการพัฒนาธุรกิจให้เกิดการต่อยอดแบบยั่งยืน อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนาและเสวนาที่น่าสนใจอีกกว่า 100 หัวข้อ การประกวดผลงานนวัตกรรมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา การมอบรางวัลนักวิจัย กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกมากมาย.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1523725

DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ