มีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงคิดว่า อะโวคาโดเป็นผลไม้บ่มิไก๊ รสชาติก็ไม่หวาน ไขมันก็สูง กลัวว่าจะกินแล้วอ้วน ทั้งที่จริงแล้วสรรพคุณของอะโวคาโดมีค่ามากกว่านั้นเยอะ จนต่างพากันยกย่องว่าอะโวคาโดเป็น "อาหารเพื่อสุขภาพ" เลยทีเดียว ถ้าอย่างนั้นอย่ารอช้า มาพิสูจน์สรรพคุณอะโวคาโดเลยสิคะ

 
อะโวคาโด สรรพคุณดี ๆ ที่อยากบอกต่อ
          อะโวคาโดมีคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ไม่น้อย จนอาจเทียบได้ว่า อะโวคาโดมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าผลไม้หลายชนิด โดยข้อมูลนี้อ้างอิงได้จากงานวิจัยของสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยข้อมูลโภชนาการและสรรพคุณของอะโวคาโดไว้ ดังนี้

             1. เนื้ออะโวคาโดประกอบไปด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 4-20% แล้วแต่พันธุ์ โดยกรดไขมันในอะโวคาโด 70% เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดปริมาณไขมันชนิดเลว (LDL-cholesterol) และเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดี (HDL-cholesterol) ในเลือด ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ดังนั้นคนเป็นโรคไขมันในเลือดสูงก็บริโภคผลไม้ชนิดนี้ได้ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สามารถบริโภคอะโวคาโดได้ด้วยนะคะ เพราะอะโวคาโดมีน้ำตาลค่อนข้างต่ำในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทว่าก็ควรบริโภคแต่เพียงน้อย สลับกับการบริโภคอาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

             2. วิตามินสูง ประกอบด้วย
               - วิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน) ช่วยบำรุงสายตา 
               - วิตามินบี ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา ปากนกกระจอก ลดอาการอักเสบ
               - วิตามินซีช่วยป้องกันหวัด เลือดออกตามไรฟัน 
               - วิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายจากมลพิษทางอากาศ น้ำ และอาหาร ป้องกันร่างกายจากโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ รวมทั้งโรคหัวใจ
             3. อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโซเดียม โพแทสเซียม โฟเลต ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะโฟเลตนั้น เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากโฟเลตเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและสร้างเนื้อเยื่อของทารก
             4. โปรตีนสูงกว่าผลไม้สดอื่น ๆ ประมาณ 0.8-1.7% โดยให้ค่าพลังงานความร้อนต่อร่างกายสูง แต่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงถือว่าเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย มีเส้นใยสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย

            5. อะโวคาโด ช่วยลดน้ำตาลในเลือด โดยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่มีอยู่ในอะโวคาโด เป็นไขมันชนิดละลายได้ มีคุณสมบัติช่วยชะลอการย่อยอาหาร ซึ่งจะช่วยคงสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งกระฉูดหลังจากที่รับประทานอาหารเข้าไปแล้ว อีกทั้งสารที่มีในไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวยังช่วยละลายอินซูลิน ส่งผลรวมไปถึงการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นั่นเอง
            6. 
อะโวคาโด ลดน้ำหนักได้ ซึ่งแม้อะโวคาโดมีแคลอรีประมาณ 500 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักเนื้อ 1 กิโลกรัม ก็จริง แต่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีน้ำตาลต่ำ ดังนั้นรับประทานแล้วไม่อ้วน และนอกจากอะโวคาโดจะมีไฟเบอร์สูงแล้ว ในเนื้อของอะโวคาโดยังมีกรดโอเลอิก (Oleic Acid) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำให้สมองสั่งการให้เรารู้สึกอิ่ม ดังนั้นถ้าจะบอกว่า อะโวคาโดช่วยลดน้ำหนักได้ ก็ถือว่าไม่ผิดนัก 
          ที่สำคัญ ดร.โยน ซาเบต หัวหน้างานวิจัยด้านโภชนาการของมหาวิทยาลัยโลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ยังเผยผลวิจัยว่า การรับประทานอะโวคาโด 1 ผล ในอาหารมื้อกลางวัน สามารถลดความต้องการในการรับประทานอาหารว่างประเภทขบเคี้ยวได้ถึง 40% ทำให้ลดปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินได้อีกด้วยนะ 

ประโยชน์ของอะโวคาโด
          นอกจากสรรพคุณอะโวคาโดทางด้านสุขภาพและร่างกายแล้ว อะโวคาโดยังมีประโยชน์ต่อความสวยความงามของเรา ดังนี้
           อะโวคาโด หมักผม บำรุงผิวพรรณชุ่มชื้น
           เนื่องจากอะโวคาโดมีปริมาณไขมันชนิดดีค่อนข้างเยอะ และเป็นไขมันที่สำคัญกับเซลล์ผิวหนังของเราเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่มีผิวแห้งกร้าน สามารถนำไขมันของอะโวคาโดมาบำรุงผิวพรรณให้กลับมานุ่มชุ่มชื้นได้เลย โดยสูตรความสวยทำได้ ดังนี้
          สูตร 1 บำรุงได้ทั้งผมและผิว
          - อะโวคาโด ½ ลูก
          - น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
          - โยเกิร์ต ½ ถ้วย
           นำส่วนผสมทั้ง 3 อย่างมาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำมาพอกหน้าไว้ จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหน้าและผม ในขณะที่น้ำผึ้งจะทำให้ผมดูเงางามขึ้นด้วย


          สูตร 2 บำรุงผิวแบบเข้มข้น

          - อะโวคาโด ½ ลูก
          - น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
          - ไข่ขาว 1 ลูก
          นำส่วนผสมทั้ง 3 อย่างมาผสมให้เข้ากันอย่างเดิม แล้วพอกทิ้งไว้ น้ำมะนาว และไข่ขาว จะช่วยลดความมันบนใบหน้า เหมาะสำหรับคนที่มีสิวง่าย ส่วนคนที่ต้องการนำไปหมักผม ไข่ขาวจะช่วยเพิ่มโปรตีนให้เส้นผมแข็งแรงขึ้น ส่วนน้ำมะนาวจะช่วยทำให้เส้นผมเงางาม

          อะโวคาโด พอกหน้าได้ด้วย
           ด้วยความที่อะโวคาโดเป็นแหล่งรวมวิตามิน เราจึงสามารถนำอะโวคาโดมาพอกหน้าเพื่อบำรุงผิว และกำจัดสิ่งสกปรกตกค้างในผิวได้ตามสูตรนี้
          สูตรคลีนเซอร์จากอะโวคาโด (Avocado Facial Cleanser)
          ส่วนผสม
          - ไข่แดง 1 ฟอง
          - นม 1/2 ถ้วย
          - เนื้ออะโวคาโดบดละเอียด 1/2 ลูก
          นำไข่แดงมาตีให้เข้ากันจนเป็นฟองแล้วเติมนมและเนื้ออะโวคาโดตามลำดับ ตีให้ส่วนผสมเข้ากันด้วยส้อมจนกลายเป็นเนื้อครีมบาง ๆ คล้ายโลชั่น หลังจากนั้นใช้สำลีแผ่นชุบแล้วเช็ดหน้าให้ทั่วเหมือนที่คุณใช้กับคลีนเซอร์ทั่วไป สามารถใช้ส่วนผสมนี้หลังจากการล้างหน้าแบบปกติที่ทำอยู่ประจำด้วยสบู่หรือน้ำ ถ้าคุณเป็นคนที่มีผิวหน้าธรรมดา สูตรนี้จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณปราศจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะจะเหมาะอย่างยิ่งกับการต่อต้านสิ่งสกปรกและละอองฝุ่นที่แอบเกาะติดมาบนใบหน้าของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว

          อะโวคาโด แก้ปัญหารอยคล้ำใต้ตา
           อย่าลืมว่าอะโวคาโดมีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีอยู่ด้วย ดังนั้นคนที่มีปัญหารอยคล้ำใต้ดวงตา แนะนำให้ใช้สูตรนี้จัดการด่วน โดยปอกเปลือก เอาเมล็ดออกและเฉือนเนื้ออะโวคาโดให้เป็นรูปเหมือนดวงจันทร์เสี้ยว 2-3 ชิ้นต่อดวงตาแต่ละข้าง นำมาแปะไว้ที่ดวงตา 20 นาที แค่นี้ดวงตาก็จะไร้รอยช้ำ และรอยหมองคล้ำจางลงได้แล้ว
          อ๊ะ ๆ อย่ามัวแต่ห่วงสวยจนลืมเรื่องปากท้องไป รู้ไหมว่าอะโวคาโดนำมาทำเมนูได้หลากหลายเลยทีเดียว ไม่เชื่อมาลองดูสูตรเมนูอะโวคาโดกันเลย

เมนูอะโวคาโด
          - 
17 ไอเดียทำเมนูอะโวคาโด อาหารฝรั่งสุดสร้างสรรค์ที่เห็นแล้วน้ำลายสอ
          - 
ไข่ดาวอะโวคาโด
          - 
แครกเกอร์หน้าแซลมอนรมควันและอะโวคาโด
          - 
แซนด์วิชทูน่าอะโวคาโด
          - 
ขนมปังปิ้งหน้าเฟต้าชีส อะโวคาโด และเม็ดทับทิม
          - 
ไก่ย่างอะโวคาโดกับแป้งตอติญ่า  
          - 
ไข่เบเนดิกต์กับอะโวคาโด


          แม้อะโวคาโดจะเป็นผลไม้สัญชาติเมืองนอก แต่ในบ้านเราก็หาซื้ออะโวคาโดไม่ได้ยากอย่างที่คิด แถมราคาอะโวคาโดยังไม่แพงมาก เพราะเราเองก็ปลูกอะโวคาโดได้แล้วด้วยนะคะ ฉะนั้นอย่ารีรอที่จะสอยอะโวคาโดมากิน เพราะอย่าลืมว่า อะโวคาโดมีสรรพคุณแจ่มเริดมาก


ขอบคุณข้อมูลจาก
สสส.
ศูนย์ข้อมูลเครื่องสำอาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
WebMD
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขอขอบคุณ

 

https://health.kapook.com/view124460.html

DOI Smart-Search
สวัสดีค่ะ ยินดีให้บริการสอบถาม และสืบค้นข้อมูลตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ค่ะ