สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส โดยฝ่ายที่เป็นเจ้าของสามารถจัดการทรัพย์สินนั้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องถามความเห็นหรือมีการตัดสินใจร่วมของอีกฝ่าย โดยสินส่วนตัว ได้แก่
· ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนจะสมรส - ต้องมีกรรมสิทธิ์ก่อนการจดทะเบียนสมรสจึงจะเป็นสินส่วนตัว
· ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว - ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะ เช่น สร้อยคอ นาฬิกา ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฯลฯ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือตรวจโรคของหมอ เครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
· ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาจากการรับมรดกหรือให้โดยเสน่หา - โดยผู้ให้เจาะจงว่าให้กับใคร แม้จะได้รับมาหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัว
· ของหมั้น - ถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยาเท่านั้น
· ของแทนสินส่วนตัว - คือ ทรัพย์หรือเงินที่ได้มาจากการเอาสินส่วนตัวไปแลกหรือขาย รวมถึงการเอาของหมั้นไปขาย เงินนั้นก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของภรรยา
สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าเช่าหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัวและมรดกที่ระบุว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียนสมรส โดยสินสมรสมีดังนี้
· ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส - ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำมาหาได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้หรือไม่ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่าง ๆ รางวัลลอตเตอรี่ เงินจากการขายที่ รถยนต์ ฯลฯ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่หามาได้หลังจากจดทะเบียนสมรส ถือรวมเป็นสินสมรสทั้งหมด
· ทรัพย์สินจากพินัยกรรม ที่ไม่ได้ระบุให้เป็นสินส่วนตัว - หากได้รับมรดกต่าง ๆ หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว แต่ผู้ให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ถือว่ามรดกนั้นเป็นสินสมรส
· ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว - ไม่ว่าจะเป็นดอกผลธรรมดาหรือดอกผลนิตินัย ถือเป็นสินสมรส ดอกผลธรรมดา ได้แก่ มีวัวแล้วแม่วัวออกลูก ลูกวัวถือเป็นดอกผล และเป็นสินสมรส ส่วนดอกผลนิตินัย ได้แก่ มีคอนโดปล่อยเช่า ค่าเช่าถือเป็นดอกผลนิตินัย และเป็นสินสมรส
กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส ทุกอย่างถือเป็นสินสมรส ทั้งนี้ เพื่อให้สามีและภรรยามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ไม่ถูกบั่นทอนได้ง่ายนั่นเอง แต่ก็ควรทำความเข้าใจทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภทให้ถูกต้อง จะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก : set.or.th, justicechannel.org, apinanlawyer.com, dharmniti.co.th
ขอบคุณข้อมูลจาก https://health.kapook.com/view273308.html?utm_source=taboola&utm_medium=exchange&tblci=GiBrjwJMX4sEPUmKibuzhY1YChjwv4sol6zLg8DGwEkNwyDbt0Yo_ZjIxKiWheZ2#tblciGiBrjwJMX4sEPUmKibuzhY1YChjwv4sol6zLg8DGwEkNwyDbt0Yo_ZjIxKiWheZ2