รหัสดีโอไอ 10.14457/TU.the.2022.629
Title ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
Creator ทิพย์ทิวา คำหา
Contributor อำนาจ วงศ์บัณฑิต, ที่ปรึกษา
Publisher มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Publication Year 2565
Keyword ค่าภาคหลวงแร่, เงินบำรุงพิเศษ, การจัดสรรค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่, Mineral royalties, Special subscription, Allocate the compensation for exploitation of mineral resources
Abstract ทรัพยากรแร่ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรสิ้นเปลืองประเภทที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ รัฐจึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด การที่ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องต้องได้รับอนุญาตจากรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรแร่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ ย่อมแสดงให้เห็นว่าแร่เป็นของรัฐ จึงทำให้รัฐมีอำนาจในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ได้ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรแร่ก็มีหน้าที่ในการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยการสูญเสียทรัพยากรแร่เช่นกัน โดยค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ที่รัฐมีอำนาจในการจัดเก็บได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้แก่ ค่าภาคหลวงแร่ และเงินบำรุงพิเศษ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บ “ค่าภาคหลวงแร่” คือเป็นการจัดเก็บค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยการสูญสิ้นไปของทรัพยากรแร่ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ อันเป็นการเรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยแร่ในฐานะที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่โดยตรง ค่าภาคหลวงแร่จึงเป็นรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐจัดเก็บได้นั้นจะถูกจัดเก็บให้เป็นรายได้ของแผ่นดินในอัตราร้อยละ 40 และจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 60 ซึ่งเป็นการจัดเก็บและจัดสรรตามสัดส่วนร้อยละที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดเก็บ “เงินบำรุงพิเศษ” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่น การศึกษาวิจัยด้านแร่ การปรับสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วตามหลักภูมิสถาปัตย์ และการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรต้องเสียเงินบำรุงพิเศษให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 5 ของค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ทุกชนิดที่ผลิตได้จากประทานบัตร จากการศึกษาเกี่ยวกับค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้นพบว่า การที่ประเทศไทยมีการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ตามมูลค่าแร่ ซึ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่เป็นสัดส่วนกับมูลค่าของแร่ที่ผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ยินยอมให้ผู้ผลิตแร่นั้นหักค่าใช้จ่ายในการผลิตแร่ ส่งผลให้ระบบการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ดังกล่าวมีลักษณะไม่เป็นการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ประกอบกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยแร่ใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีการส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีปโดยกำหนดให้ผู้ซื้อแร่มีหน้าที่ชำระค่าภาคหลวงแร่ และกรณีของผู้ครอบครองแร่ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ไม่ต้องเสียเงินบำรุงพิเศษ การที่ข้อกำหนดตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมีผลทำให้การจัดเก็บรายได้ในส่วนดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและทำให้รัฐขาดรายได้ในส่วนที่ควรได้รับในบางกรณี นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมกับผลกระทบที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่และการประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโครงการเหมืองแร่กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่และพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและจัดสรรค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยแร่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีมาตรการที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ที่คำนึงถึงต้นทุนในการผลิตแร่ และกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ตามลักษณะการใช้แร่ของแร่บางชนิดที่รัฐต้องการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเป็นการใช้แร่อย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งนำแนวทางปฏิบัติที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ถือปฏิบัติมากำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแร่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญเพื่อให้การจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดสัดส่วนของค่าภาคหลวงแร่ที่จัดสรรแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมกับผลกระทบที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่และการประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นระหว่างผู้ถือประทานบัตรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของพื้นที่ทำเหมือง โดยข้อตกลงดังกล่าวควรมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่จะได้รับโดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโครงการเหมืองแร่กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่และพื้นที่ใกล้เคียง อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ดิจิตอลไฟล์ Digital File #1

บรรณานุกรม

ทิพย์ทิวา คำหา และผู้แต่งคนอื่นๆ. (2565) ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์:ม.ป.ท.
ทิพย์ทิวา คำหา และผู้แต่งคนอื่นๆ. 2565. ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์;
ทิพย์ทิวา คำหา และผู้แต่งคนอื่นๆ. ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565. Print.