รหัสดีโอไอ 10.14457/TU.the.2022.217
Title ความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก
Creator กชพร ตั้งจิตต์สำราญ
Contributor คัติยา อีวาโนวิช, ที่ปรึกษา
Publisher มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Publication Year 2565
Keyword ความเครียด, ผู้ดูแล, แรงสนับสนุนทางสังคม, ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, Stress, Caregiver, Social support, Hemodialysis
Abstract การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด จำนวน 200 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างโดยใช้หลักความน่าจะเป็นแบบมีระบบ (Systematic random sampling) เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2564 ถึง 20เมษายน 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของผู้ดูแลผู้ป่วย แบบวัดความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วย และแบบวัดแรงสนับสนุนทางสังคม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ One way ANOVA, Pearson correlation และ Multiple Logistic regression ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05ผลการศึกษาพบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่เป็นอาสาสมัครในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 61.5 มีอายุ 23-75 ปี มีอายุเฉลี่ย 48.31 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32.0 รองลงมาคือประถมศึกษา ร้อยละ 22.0 และมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 17.0 สมรส ร้อยละ 69.0 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 42.0 โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 32.0 รองลงมา คือโรคไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 12.0 และโรคเบาหวาน ร้อยละ 11.5 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 29.8 มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 5,000 – 10,000 บาท ร้อยละ 43.5 และมีรายได้เฉลี่ย 16,653.7 บาท ระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 42.0 อยู่ในช่วง 3 -5 ปี เฉลี่ย 4.31 ปี ระยะเวลาการดูแลผู้ป่วยในวันที่ฟอกเลือดเฉลี่ย 2.74 ชั่วโมง ส่วนวันที่ไม่ได้ฟอกเลือดเฉลี่ย 1.87 ชั่วโมง การประเมินความเข้าใจของตนเองต่อความรู้ในการดูแลผู้ป่วย พบว่า มีความเข้าใจพอที่จะดูแลผู้ป่วยได้ ร้อยละ 67.5 ผู้ดูแลผู้มีความเครียดโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 18.5 และอยู่ในอยู่ระดับปานกลาง/ระดับสูง ร้อยละ 0.5 โดยมีความเครียดมากที่สุดด้านร่างกายอยู่ในระดับปานกลาง/ระดับสูง ร้อยละ 6.5 รองลงมาคือความเครียดด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง/ระดับสูง ร้อยละ 6.0 ผู้ดูแลผู้ป่วย ที่มีความเครียดมีคะแนนการเผชิญความเครียดมากกว่าผู้ดูแลผู้ป่วยปกติ (ไม่เครียด) ( x̅= 51.87, SD = 11.83) ด้านการเผชิญความเครียดแบบมุ่งแก้ปัญหา พบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเครียดมีค่าเฉลี่ยคะแนนการเผชิญความเครียดแบบมุ่งแก้ปัญหามากกว่าผู้ดูแลปกติ( x̅= 16.68, SD = 8.45)สำหรับด้านค่าเฉลี่ยคะแนนการเผชิญความเครียดแบบจัดการกับอารมณ์ พบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยคะแนนการเผชิญความเครียดแบบจัดการกับอารมณ์ไม่แตกต่างกัน (p-value = 0.372)ผู้ดูแลผู้ป่วยได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวมากที่สุด รองลงมาเป็นแรงสนับสนุนจากญาติพี่น้อง จากบุคลากรทางการแพทย์ และจากเพื่อน โดยพบว่า แรงสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลางถึงมากที่สุด พบว่า ได้รับจากครอบครัวมากที่สุด ร้อยละ 71.0 รองลงมาได้รับจากญาติพี่น้อง ร้อยละ 43.5 และ บุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 6.0 ตามลำดับคุณลักษณะของผู้ป่วย คุณลักษณะของผู้ดูแลผู้ป่วย และแรงสนับสนุนทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยมากที่สุดคือ สุขภาพไม่แข็งแรงหลังดูแลผู้ป่วย รองลงมา คือ แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคลากรทางการแพทย์ ต้องช่วยเหลือผู้ป่วยในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แรงสนับสนุนทางสังคมจากญาติ พี่น้อง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิ์ มีรายได้ไม่เพียงพอ และการศึกษาระดับปริญญาตรี/สูงกว่าปริญญาตรี ตามลำดับ เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญกับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05 ดังนั้นตัวแปรคุณลักษณะของผู้ป่วย คุณลักษณะของผู้ดูแลผู้ป่วย และแรงสนับสนุนทางสังคม สามารถร่วมกันอธิบายความผันแปรของความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 (R square = 0.507)ผลการศึกษานี้พบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยควรมีผู้ช่วยในการดูแลผู้ป่วย เพื่อผลัดเปลี่ยนให้ผู้ดูแลสามารถมีเวลาพัก และมีเวลาทำกิจกรรมส่วนตัว โดยใช้แรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนเครือข่ายสุขภาพชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งทีมสหวิชาชีพ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ควรให้การช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยในการเผชิญกับความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ดูแลผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ดิจิตอลไฟล์ Digital File #1

บรรณานุกรม

กชพร ตั้งจิตต์สำราญ และผู้แต่งคนอื่นๆ. (2565) ความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์:ม.ป.ท.
กชพร ตั้งจิตต์สำราญ และผู้แต่งคนอื่นๆ. 2565. ความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์;
กชพร ตั้งจิตต์สำราญ และผู้แต่งคนอื่นๆ. ความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565. Print.