รหัสดีโอไอ | 10.14457/TU.the.2022.216 |
---|---|
Title | ประสิทธิผลของการปรับปรุงสถานีงานตามหลักการยศาสตร์ในกลุ่มพนักงานฝังพลอยในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับแห่งหนึ่ง |
Creator | นราพร สิงห์ไชย |
Contributor | ธีรพันธ์ แก้วดอก, ที่ปรึกษา |
Publisher | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
Publication Year | 2565 |
Keyword | การยศาสตร์, การประเมินความเสี่ยงท่าทางการทำงานร่างกายส่วนบน, ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ, การปรับปรุงสถานีงาน, คนงานผลิตเครื่องประดับ, Ergonomics, RULA, MSDs, Electromyography (EMG), Workstation improvement, Jewelry workers |
Abstract | งานฝังพลอยในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับเป็นงานที่ร่างกายอยู่ในท่าทางแบบคงที่ นั่งทำงานในสถานีงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ลักษณะดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทางการยศาสตร์ที่ทำให้เกิดอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการปรับปรุงสถานีงานตามหลักการยศาสตร์ในกลุ่มพนักงานฝังพลอยในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับ การศึกษาแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สำรวจสภาพการทำงานของพนักงานฝังพลอยในงาน Cast In Place: CIP เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและแบบรายงานด้วยตนเองของอาการระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทดสอบแรงบีบมือ และการประเมินความเสี่ยงท่าทางการทำงานของพนักงานฝังพลอย จำนวน 100 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และระยะที่ 2 เป็นขั้นตอนการปรับปรุงสถานีงาน จากนั้นประเมินประสิทธิผล กำหนดการศึกษาแบบกึ่งทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 16 คน เก็บข้อมูลด้วยการประเมินค่าเฉลี่ยร้อยละของกล้ามเนื้อขณะทำงานเทียบกับการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อโดยสมัครใจ (% MVC) และค่าความถี่กลาง (Median frequency: MF) ด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ 4 มัด ได้แก่ Biceps brachii, Triceps brachii, Middle Deltoids และ Upper Trapezius ระดับคะแนนความเสี่ยงท่าทางการทำงาน สัดส่วนของอาการปวดเมื่อย การรับรู้ความสบายของพนักงาน ยอดการผลิตและเวลาการทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิต Paired t- test ผลการศึกษาระยะที่ 1 พบว่ากลุ่มอาสาสมัครเป็นเพศหญิงทั้งหมด มีอายุเฉลี่ย 29.12±5.66 ปี ความชุกของอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อสูงสุด 3 อันดับแรก คือ บริเวณคอ หัวไหล่ และเมื่อยล้าสายตา ร้อยละ 79.00, 78.00 และ 65.00 ตามลำดับ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.44±0.91 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ร้อยละ 53.00 ส่วนการประเมินความเสี่ยงของท่าทางการทำงานพบว่า ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมและควรรีบปรับปรุง ร้อยละ 54.00 ผลการศึกษาประสิทธิผลของการปรับปรุงสถานีงานของพนักงานฝังพลอยในระยะที่ 2 พบว่าการปรับปรุงสถานีงานใหม่สามารถลดระดับความเสี่ยงท่าทางการทำงานและความชุกของอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ค่าการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อโดยสมัครใจของกลุ่มอาสาสมัคร จำแนกตามมัดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทำงานของพนักงานฝังพลอยพบว่า กล้ามเนื้อ Biceps brachii, Triceps brachii, Middle Deltoids, และ Upper trapezius มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 509.46 (SD = 376.25), 247.90 (SD = 90.53), 448.38 (SD = 180.14) และ 232.29 (SD = 116.53) ตามลำดับ เมื่อทำการเปรียบเทียบค่าร้อยละของกล้ามเนื้อขณะทำงานเทียบกับการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อโดยสมัครใจ (% MVC) ของพนักงานฝังพลอย พบว่าเมื่อพนักงานทำงานกับสถานีงานที่ปรับปรุงใหม่มัดกล้ามเนื้อ Biceps brachii มีค่าสูงขึ้น และมัดกล้ามเนื้อ Middle Deltoids มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ส่วนมัดกล้ามเนื้อ Triceps brachii และ Upper trapezius มีค่าสูงขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ค่าความถี่กลาง การรับรู้ความสบายของพนักงานพบว่ามีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ส่วนค่าเฉลี่ย Productivity และเวลาทำงานระหว่างทั้งสองสถานีงานแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่การออกแบบสถานีงาน และควรมีการติดตามผลของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานควรนำประเด็นปัญหาทางการยศาสตร์มาพิจารณาเพิ่มในงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อป้องกันการรับสัมผัสสิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ ผลการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่แนวทางในปรับปรุงสภาพการทำงานที่เหมาะสมของพนักงานต่อไป |
ดิจิตอลไฟล์ |
Digital File #1 |