รหัสดีโอไอ 10.14457/TU.the.2021.657
Title ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมไซเบอร์
Creator วิรมณ ดาวดวง
Contributor ณรงค์ ใจหาญ, ที่ปรึกษา
Publisher มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Publication Year 2564
Keyword พยานหลักฐาน, การรวบรวมพยานหลักฐาน, การสืบสวนสอบสวน, อาชญากรรมไซเบอร์, Evidence, Evidence collection, Investigation, Cybercrime
Abstract ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ส่งผลต่อการพัฒนารูปแบบและวิธีการในการก่ออาชญากรรมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ อาชญากรรมไซเบอร์ การปราบปรามผู้กระทำความผิดจึงต้องอาศัยการแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอาญาจากระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์หรือพยานหลักฐานดิจิทัล ซึ่งรัฐก็ต้องให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การใช้อำนาจรัฐในกรณีดังกล่าวย่อมกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน ดังนั้น จึงต้องศึกษาว่าการใช้อำนาจในแต่ละกรณีนั้นมีความจำเป็นและได้สัดส่วนเพียงใด นอกจากนี้ จะต้องศึกษาถึงวิธีการทางเทคนิคและการเก็บรักษาพยานหลักฐานที่ได้มาว่ามีปัญหาอย่างไร หรือไม่ซึ่งจะส่งผลต่อพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงในคดี โดยจะศึกษาเปรียบเทียบกับแนวทางในต่างประเทศได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งยังคงมีปัญหาบางประการ ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการให้อำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐาน กล่าวคือ มีการให้อำนาจเจ้าพนักงานที่กว้างซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมอาชญากรรมแต่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากและยังไม่มีความเหมาะสม ปัญหากลไกการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนซึ่งยังไม่เพียงพอ ปัญหาการบังคับใช้มาตรการในการรวบรวมพยานหลักฐานกับผู้ให้บริการเนื่องด้วยมีนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานจากการใช้มาตรการจากการขาดกฎหมายและองค์ความรู้ของเจ้าพนักงาน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีข้อคิดเห็นและเสนอแนะให้ปรับปรุงบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ให้มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น อาทิ มาตรการในการเรียกข้อมูลทุกประเภทต้องขออนุญาตจากศาล การเพิ่มเติมมาตรการในการปฏิบัติต่อข้อมูลที่ได้มา กำหนดกรอบระยะเวลาในการใช้มาตรการ การปรับปรุงบทบัญญัติให้การอนุญาตของศาลพิจารณาถึงผลกระทบของบุคคลภายนอกและภาระของผู้ให้บริการ การเพิ่มเติมกระบวนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐาน เห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติต่อพยานหลักฐานที่ได้มาให้เจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตาม และจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สมบูรณ์ขึ้น
ดิจิตอลไฟล์ Digital File #1

บรรณานุกรม

วิรมณ ดาวดวง และผู้แต่งคนอื่นๆ. (2564) ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมไซเบอร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์:ม.ป.ท.
วิรมณ ดาวดวง และผู้แต่งคนอื่นๆ. 2564. ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมไซเบอร์. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์;
วิรมณ ดาวดวง และผู้แต่งคนอื่นๆ. ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมไซเบอร์. ม.ป.ท.:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564. Print.