รหัสดีโอไอ | 10.14457/TU.the.2021.651 |
---|---|
Title | มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันดินถล่มในพื้นที่สูง: กรณีศึกษา ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ |
Creator | พรเทพ รัตนาวงศ์ไชยา |
Contributor | ณรงค์ ใจหาญ, ที่ปรึกษา |
Publisher | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
Publication Year | 2564 |
Keyword | ภัยพิบัติ, ดินถล่ม, ภัยพิบัติดินถล่ม, พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม, การอนุรักษ์ดินและน้ำ, Disaster, Landslide, Landslide disaster, Landslide risk area, Soil and water conservation |
Abstract | การเผชิญหน้ากับภัยพิบัติดินถล่ม (Landslide) เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างแน่นอน ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงรวมถึงมนุษย์ที่ครอบครองพื้นที่บริเวณนั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากดินถล่ม โดยมีสาเหตุจากปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดดินถล่ม ได้แก่ ปัจจัยด้านภูมิประเทศ ปัจจัยด้านธรณีวิทยา ปัจจัยด้านภูมิอากาศ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม และปัจจัยด้านการกระทำของมนุษย์ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าว พบว่าพื้นที่ประสบภัยพิบัติดินถล่มของประเทศไทยมักพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ได้นำพื้นที่ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากตำบลท่าผามีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่ลาดเอียงไปจนถึงพื้นที่สูงชันมากกว่า 30 องศา ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ในฤดูฝนมักมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าพื้นที่อื่น ประกอบกับพื้นที่มีความเสื่อมโทรมจากการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน จึงทำให้เกิดดินถล่มในที่สุดโดยมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาดินถล่ม ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 ทั้งยังมีกฎหมายและมาตรการอื่น ๆ อีก หลายฉบับ แต่มีเพียงฉบับเดียวที่กำหนดมาตรการป้องกันดินถล่มคือ พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 โดยใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา แต่มาตรการดังกล่าว ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาดินถล่มในประเทศไทย จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาว่ามาตรการทางกฎหมายในการป้องกันดินถล่มเพียงพอต่อการรับมือกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ หรือเป็นเพียงปัญหาการใช้บังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายนอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายป้องกันและแก้ไขดินถล่มในประเทศญี่ปุ่น คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันดินถล่ม ค.ศ. 1958 (Landslide Prevention Law 1958) ซึ่งประสบความสำเร็จในการป้องกันดินถล่มจากการใช้มาตรการอนุรักษ์ดินด้วยวิธีกลและวิธีพืช โดยจะนำข้อดีของมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุป งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาดินถล่มในตำบลท่าผาสามารถนำพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 มาปรับใช้ โดยอาศัยการวางแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีมาตรการทางกฎหมายที่สามารถใช้ในการป้องกันดินถล่ม โดยการประกาศเขตอนุรักษ์ดินและน้ำพร้อมทั้งกำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อใช้บังคับในพื้นที่ แต่มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำดังกล่าวยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจน และยังพบปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการใช้อำนาจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินแก้ไข |
ดิจิตอลไฟล์ |
Digital File #1 |