รหัสดีโอไอ | 10.14457/TU.the.2019.1334 |
---|---|
Title | สถานภาพและประเด็นปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
Creator | ชลธาร ปิ่นเจริญ |
Contributor | วรรณภา ติระสังขะ, ที่ปรึกษา |
Publisher | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
Publication Year | 2562 |
Keyword | การจ้างงานคนพิการ ,การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ,มาตรการแนวทางแก้ไข ,Employment of persons with disabilities ,Violation ,Solutions |
Abstract | การศึกษา เรื่อง “สถานภาพและประเด็นปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเพื่อเสนอมาตรการหรือแนวทางแก้ไขการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ โดยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จากการศึกษาข้อมูลเอกสาร (Documentary Research) โดยการค้นคว้าและรวบรวม ข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนภารกิจด้านการจ้างงานคนพิการ และการเก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Survey) วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In - Dept Interview) จากกลุ่มประชากรที่มีความเกี่ยวข้อง จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนพิการที่ทำงานและไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือผู้แทนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มผู้บริหารหรือบุคลากรของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและกรมการจัดหางานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ เพื่อหามาตรการหรือแนวทางแก้ไขการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มประชากรมีความเห็นต่อประเด็นปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยประเด็นที่ปัญหาอุปสรรคหลากหลายประเด็น ดังนี้ 1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงานคนพิการและสิทธิสวัสดิการที่ต้องได้รับจากการทำงานในสถานประกอบการ 2) การปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการระหว่างสถานประกอบการกับหน่วยงานของรัฐ 3) กฎหมายและระเบียบหรือวิธีปฏิบัติเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการหรือมีความไม่ชัดเจน 4) ศักยภาพหรือทักษะของคนพิการที่ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงาน เนื่องจากคนพิการมีข้อจำกัดในการเข้าสู่ระบบการจ้างงานคนพิการ 5) การไม่มีกลไกการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ 6) การไม่มีมาตรการหรือบทลงโทษสำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรคนพิการที่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ถูกต้อง 7) การกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากมีกิจการบางประเภทหรือลักษณะงาน และ 8) การไม่มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการมีงานทำของคนพิการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้อเสนอแนะจากการศึกษาในครั้งนี้ ควรมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในเรื่องต่าง ๆ ควรมีการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงานคนพิการและสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับคนพิการอย่างต่อเนื่อง ควรสร้างกลไกกระบวนการติดตามตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ และตลอดจนควรส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการมีงานทำของคนพิการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามมาตรการหรือแนวทางแก้ไขเหล่านี้เป็นเพียงกลไกส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการเพิ่มมากขึ้นและถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับการแก้ไขปัญหาของคนพิการโดยเฉพาะปัญหาการทำงานของคนพิการนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกันภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนพิการเข้าถึงโอกาสการมีงานทำและจะเป็นประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาคนพิการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
ดิจิตอลไฟล์ |
Digital File #1 |