รหัสดีโอไอ | 10.14457/TU.the.2019.1330 |
---|---|
Title | บทเรียนของความสำเร็จในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย: กรณีศึกษา เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร |
Creator | รัชนี ผันนะทัย |
Contributor | วรรณภา ติระสังขะ, ที่ปรึกษา |
Publisher | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
Publication Year | 2562 |
Keyword | ประสิทธิผล ,ความสำเร็จ ,นโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ,เยาวราช ,Effectiveness ,Success ,Policy of street kiosk organization ,Chinatown |
Abstract | การศึกษาเรื่อง “บทเรียนของความสำเร็จในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย กรณีศึกษา : เยาวราช เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร” เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงการดำเนินงานตามนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ศึกษาปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการดำเนินนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในพื้นที่เยาวราช โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร บทความ งานวิชาการ การสัมภาษณ์พูดคุยแบบทางการและไม่เป็นทางการ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยการศึกษานี้ทำการวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิดหลักที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่มีผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติของ Van meter และ Van Horn ที่มีชื่อว่า “The Policy Implementation Process” ที่มุ่งอธิบายปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยเป็นปัญหาของกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้ดำเนินนโยบายการจัดระเบียบทางทางเท้าและหาบเร่แผงลอยทั่วกรุงเทพมหานคร ผ่านคำสั่งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเยาวราชถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาผู้ค้าหาบเร่แผงลอย แต่ได้รับการผ่อนปรนให้มีจุดผ่อนผันตั้งหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ได้ ซึ่งผลของการศึกษาทำให้ทราบถึง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการนำนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยไปปฏิบัติในพื้นที่เยาวราช ประกอบด้วย (1) ปัจจัยด้านมาตรการและนโยบาย ที่เป็นมาตรการพิเศษของรัฐบาลที่มีคำสั่งให้มีการจัดระเบียบและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย รวมถึงการคืนทางเท้าให้ประชาชน ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น (2) ปัจจัยความสอดคล้องและความชัดเจนของวัตถุประสงค์ต่อสภาพปัญหา พบว่า นโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยมีความชัดเจนที่มุ่งแก้ไขปัญหา สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนนักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพมหานคร (3) ปัจจัยสมรรถนะของหน่วยงานที่ปฏิบัติ พบว่า สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตามนโยบาย ทั้งบุคลากร งบประมาณ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความคล่องตัว ดำเนินงานตามนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยได้อย่างประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรม (4) ปัจจัยด้านมาตรการบังคับใช้เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติ พบว่า การสื่อสารรายละเอียดของนโยบายไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและการทำความเข้าใจกับผู้ค้าในพื้นที่เยาวราช ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ (5) ปัจจัยด้านสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม พบว่า พื้นที่เยาวราชมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น นักท่องเที่ยวให้ความนิยมมากขึ้น ผู้ค้ามีโอกาสเพิ่มรายได้ อีกทั้งเยาวราชมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้การค้าในพื้นที่มีความคึกคัก เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งผลที่ดีในระยะยาว (6) ปัจจัยด้านการยอมรับและการต่อต้านจากผู้ค้า พบว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่ยอมรับและปฏิบัติตามนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเป็นอย่างดี มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยในช่วงแรก แต่เนื่องจากการได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการค้าในพื้นที่ ทำให้ผู้ค้ายอมรับการดำเนินนโยบายการจัดระเบียบ (7) ปัจจัยด้านการร่วมมือของประชาชน พบว่า การดำเนินนโยบายการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมให้ข้อเสนอแนะ ร่วมตัดสินใจ เพื่อให้ได้ฉันทามติร่วมกัน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย อย่างไรก็ตามปัจจัยของความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมามีความเกี่ยวข้องกันในฐานะตัวแสดงในเชิงนโยบาย ทั้งบทบาทของภาครัฐที่ใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินนโยบายการจัดระเบียบ บริบทของพื้นที่ที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญคือบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน การยอมรับของผู้ค้าในพื้นที่ ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในครั้งนี้ข้อเสนอแนะในการศึกษา บทเรียนของความสำเร็จในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย กรณีศึกษา เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเพื่อให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดย (1) เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยได้รวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับภาครัฐ และร่วมกันพัฒนาส่งเสริมอาชีพเพื่อต่อยอดความสามารถของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมาปรับใช้เพื่อประกอบอาชีพให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมภายหลัง (2) ควรมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยทุกพื้นที่ให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับผู้อพยพหรือมีรายได้น้อย โดยการทำข้อตกลงร่วมกันหรือมีการลงทะเบียนผู้ค้าอย่างถูกต้องเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการในระยะยาว (3) ควรมีการปรับเพิ่มโทษแก่ผู้ที่กระทำความผิด หรือหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีการยกเว้น (4) สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยรัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนักท่องเที่ยว ไม่สนับสนุนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ผิดหลักเกณฑ์หรือไม่เคารพพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเกิดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ไม่รุกล้ำทางสาธารณะ เกิดความร่วมมือในการจัดระเบียบในอนาคต (5) การบริหารเชิงพื้นที่ ควรมีการขยายขอบเขตพื้นที่การจัดระเบียบให้ครอบคลุมบริเวณใกล้เคียงเยาวราชให้มีวงกว้างมากขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวม ไม่เกิดข้อเปรียบเทียบ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพื้นที่อื่นต่อไป (6) นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครและผู้บริหารระดับเขตควรมีความต่อเนื่องเพื่อสานต่อนโยบายก่อนหน้า และคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่ต้องอาศัยสินค้าอุปโภคบริโภคจากหาบเร่แผงลอยและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการกำหนดนโยบายในอนาคตไม่ควรฝ่าฝืนธรรมชาติหรือความรู้สึกของคนในสังคมมากเกินไป เพื่อให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือที่ดีในสังคมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อไป |
ดิจิตอลไฟล์ |
Digital File #1 |