รหัสดีโอไอ | 10.14457/TU.the.2019.1240 |
---|---|
Title | สถานะทางกฎหมายและการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ที่ออกโดยฝ่ายตุลาการซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป |
Creator | ภานุวัฒน์ ผ่องใส |
Contributor | วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ที่ปรึกษา |
Publisher | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
Publication Year | 2562 |
Keyword | กฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ,สถานะทางกฎหมาย ,กฎ ,ฝ่ายตุลาการ ,การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ,Regulations which are generally enforced ,Legal status ,Rule ,Judiciary ,Legality control |
Abstract | วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาสถานะทางกฎหมายและการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ที่ออกโดยฝ่ายตุลาการซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยใช้วิธีการค้นคว้าจากตำรา บทความ เอกสารทางวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ตลอดทั้งการพิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลทั้งศาลไทยและศาลต่างประเทศ ทั้งนี้ มีวัตถุแห่งการศึกษาคือบรรดากฎเกณฑ์ที่ออกโดยฝ่ายตุลาการซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปในประเทศไทย ทั้งในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายไทยในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของประเด็นสถานะทางกฎหมายของกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุให้บรรดากฎเกณฑ์ดังกล่าวหลุดพ้นจากการถูกควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหรือความชอบด้วยกฎหมาย จากการศึกษาพบว่า รูปแบบ ขอบเขต และข้อจำกัดของการที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ฝ่ายตุลาการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกันออกไป โดยในกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์ มีลักษณะของการมอบอำนาจให้ฝ่ายตุลาการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าว ได้ค่อนข้างกว้างขวาง และมีเนื้อหาที่เป็นการกำหนดวิธีพิจารณาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องทางในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหรือความชอบด้วยกฎหมาย ทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ได้หลายช่องทาง ในทางกลับกัน ในกลุ่มประเทศซิวิลลอว์ มีลักษณะของการมอบอำนาจให้ฝ่ายตุลาการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้ค่อนข้างจำกัด และเนื้อหาของกฎเกณฑ์ดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับอยู่ภายในวงงานของฝ่ายตุลาการเท่านั้น ไม่มีส่วนที่กำหนดวิธีพิจารณาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในกลุ่มประเทศซิวิลลอว์จึงไม่มีการกำหนดช่องทางการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหรือความชอบด้วยกฎหมายไว้ เนื่องจากบรรดากฎเกณฑ์ที่ฝ่ายตุลาการออกมาใช้บังคับไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายไทยที่เป็นระบบกฎหมายซิวิลลอว์ จากการศึกษาพบว่า ในระบบกฎหมายไทยฝ่ายตุลาการใช้อำนาจในการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปอย่างค่อนข้างกว้างขวางในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์ แต่กลับมีช่องทางในการควบคุมตรวจสอบค่อนข้างจำกัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นสภาพการณ์ที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมายด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า รูปแบบ ขอบเขต และข้อจำกัดของการมอบอำนาจให้ฝ่ายตุลาการออกกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งมีช่องทางในการควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสมกับขอบเขตของอำนาจที่ฝ่ายตุลาการใช้ในการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป แต่ในระบบกฎหมายไทยช่องทางในการควบคุมตรวจสอบกลับไม่สอดคล้องกับขอบเขตของอำนาจของฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้าใจต่อปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายและการควบคุมตรวจสอบกฎเกณฑ์ดังกล่าวในระบบกฎหมายไทยที่ยังขาดความเป็นระบบ อันเป็นผลให้การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการของไทยยังขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน และขาดระบบการควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม |
ดิจิตอลไฟล์ |
Digital File #1 |